Abstract:
สารนิพนธ์นี้ศึกษาการทูตทางเศรษฐกิจของไทยต่อแอฟริกาโดยใช้การเปิดสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาปูโต โมซัมบิก เป็นกรณีศึกษา วัตถุประสงค์การวิจัยของสารนิพนธ์มุ่งตอบคำถาม 2 ข้อ คือ (1) ทำไมรัฐบาลไทยสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงเลือกโมซัมบิกเป็นจุดดำเนินนโยบายการทูตเชิงรุกด้านเศรษฐกิจของไทยต่อแอฟริกา และใช้การผลักดันการเปิดสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาปูโต เป็นเครื่องมือสำหรับขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว (2) เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และรัฐบาลที่เข้ามาใหม่เปลี่ยนแนวทางดำเนินนโยบายต่อแอฟริกาจากการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกมาเป็นความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและการทูตสาธารณะ บทบาทและแนวทางดำเนินยุทธศาสตร์ของสถานเอกอัครราชทูตไทยที่โมซัมบิกมีการปรับตัวอย่างไร
จากการศึกษาด้วยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ สารนิพนธ์ได้ข้อค้นพบว่ารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำเนินนโยบายรุกแอฟริกาทางเศรษฐกิจด้วยการเปิดสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาปูโต เป็นการสนับสนุนภาคธุรกิจที่เข้าไปสกัดวัตถุดิบและทรัพยากรในโมซัมบิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจอัญมณี ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและมีการปรับแนวทางดำเนินนโยบาย จุดมุ่งหมายเดิมที่ต้องการใช้สถานทูตเป็นจุดประสานการดำเนินการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกและสนับสนุนการขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรและวัตถุดิบลดความสำคัญลง แนวทางดำเนินยุทธศาสตร์ของสถานทูตไทยที่มาปูโตเปลี่ยนมาเน้นความร่วมมือเพื่อการพัฒนาผสานกับการทูตสาธารณะ เพื่อมุ่งให้ความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศทั้งสองเป็นเงื่อนไขสนับสนุนการแก้ไขปัญหาให้แก่ภาคธุรกิจที่เข้าไปสกัดทรัพยากรในโมซัมบิก
จากข้อค้นพบข้างต้นสารนิพนธ์มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังนี้ (1) กระทรวงการต่างประเทศควรทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทย เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การทูตทางเศรษฐกิจของไทยต่อแอฟริกาให้มีความต่อเนื่อง มีตัวชี้วัดประสิทธิภาพและสัมฤทธิผลของมาตรการดำเนินยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน (2) กระทรวงการต่างประเทศควรผลักดันให้หน่วยงานด้านส่งเสริมการค้าและการลงทุนทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกต่อแอฟริกาให้มากขึ้น รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างภาคเอกชนไทยกับภาคเอกชนในแอฟริกา (3) เปลี่ยนจุดเน้นในการใช้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างไทยกับประเทศในแอฟริกาในกรอบของการทูตสาธารณะมาเป็นการใช้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา
เป็นกลไกขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ของการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก