Abstract:
สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์การวิจัย สองข้อ คือ หนึ่ง การวิเคราะห์เหตุปัจจัยที่ทำให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ทำงานด้านการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยได้อย่างมีเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาจากการที่ประเทศต่างๆ ยอมรับและปฏิบัติตาม ข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานความปลอดภัย และ สอง เพื่อแสดงให้เห็นการทำงานของ ICAO และการปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศสมาชิกจากปัจจัยที่ได้วิเคราะห์ไว้ โดยใช้กรณีประเทศไทยที่ ICAO เข้ามาตรวจสอบและได้รับเครื่องหมายธงแดงเป็นกรณีศึกษา
สารนิพนธ์มีข้อเสนอหลักตามกรอบแนวคิดทฤษฎี Neoliberal Institutionalism ว่า ICAO สามารถช่วยรัฐสมาชิกบรรลุความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกันในด้านการบินพลเรือนด้วยการทำหน้าที่วางข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานและมาตรการด้านความปลอดภัยให้รัฐสมาชิกรับไปปฏิบัติ และจัดระบบตรวจสอบการรักษามาตรฐานของสมาชิก ความเข้มแข็งของ ICAO มาจาก สามปัจจัยสำคัญ ปัจจัยแรกมาจากการที่ ICAO เป็นกลไกเชิงสถาบันทำหน้าที่เป็นจุดประสานการกำหนดและตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของกิจการการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ทำให้การดำเนินการของแต่ละประเทศเป็นไปอย่างสอดคล้องและมีประสิทธิภาพสม่ำเสมอกัน ปัจจัยที่สอง การปฏิบัติตามข้อกำหนดและคำวินิจฉัยของ ICAO มาจากการที่แต่ละประเทศมุ่งรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ไม่ต้องการนำเรื่องความปลอดภัยของการบินพลเรือนไปเสี่ยงกับประเทศที่ ICAO ตรวจสอบพบว่าการดำเนินการไม่ได้มาตรฐาน และปัจจัยที่สาม มาจากข้อเสนอของ Ian Hurd เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความชอบธรรมขององค์การระหว่างประเทศกับการปฏิบัติตามของรัฐสมาชิก สารนิพนธ์เสนอว่า ICAO ได้รับการยอมรับจากรัฐสมาชิกเพราะกฎข้อบังคับและมาตรฐานด้านความปลอดภัย ICAO มีความน่าเชื่อถือ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และแนวทางดำเนินการตรวจสอบของ ICAO มีความชัดเจน โปร่งใส และปฏิบัติต่อทุกประเทศด้วยมาตรฐานและแบบแผนอย่างเดียวกัน
กรณีศึกษาประไทยกับ ICAO สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของปัจจัยทั้งสามอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากไม่ผ่านการตรวจสอบและได้รับธงแดง ทางการไทยได้เร่งแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วนโดยถือเป็นวาระระดับชาติเพื่อปรับปรุงระบบกำกับดูแลกิจการการบินพลเรือนของไทยให้ได้ตามมาตรฐานของ ICAO จากกรณีศึกษานี้ สารนิพนธ์มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการบินควรมีการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัย ปรับปรุงและแก้ไขข้อกำหนดต่างๆ อีกทั้งควรมีการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ที่เป็นมาตรฐานเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการปฏิบัติงาน