Abstract:
สารนิพนธ์ในหัวข้อ “การสมานลักษณ์ของชาวอินเดียพลัดถิ่นในกรุงเทพมหานคร” มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจพลวัตความหลากหลายของชาวอินเดียในสังคมไทย และเพื่อศึกษาการสมานลักษณ์ของชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยแบ่งชาวอินเดียออกเป็นสองกลุ่มคือ หนึ่ง กลุ่มชาวอินเดียที่ครอบครัวย้ายถิ่นเข้ามายังกรุงเทพมหานครก่อนศตวรรษที่ 21 หรือกลุ่มชาวไทยเชื้อสายอินเดีย และสอง กลุ่มชาวอินเดียที่ย้ายถิ่นเข้ามายังกรุงเทพมหานครในศตวรรษที่ 21 โดยสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ และประสบการณ์ในการอาศัยในกรุงเทพมหานคร เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างและความความสอดคล้องของการพลัดถิ่นและการสมานลักษณ์ของทั้งสองกลุ่ม ว่ามีการปรับตัวเข้าสู่สังคมกรุงเทพมหานครอย่างไร
สารนิพนธ์ฉบับนี้ใช้กรอบทฤษฎีคนพลัดถิ่น (Diaspora theory) วิเคราะห์การรักษาอัตลักษณ์ของชาวอินเดียในกรุงเทพมหานคร และใช้กรอบทฤษฎีการสมานลักษณ์ (Assimilation theory) วิเคราะห์การเรียนรู้และปรับตัวของชาวอินเดียในกรุงเทพมหานคร รวมถึงการปรับตัวในฝั่งของสังคมไทยที่รับเอาชาวอินเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมกรุงเทพมหานคร ผลการศึกษาพบว่า ชาวอินเดียที่ย้ายถิ่นเข้ามายังกรุงเทพมหานครในศตวรรษที่ 21 สามารถคงอัตตลักษณ์บ้านเกิดไว้ได้ดีกว่า เนื่องจากยังรักษาสัมพันธ์กับบ้านเกิดไว้ได้อย่างแนบแน่นและมองว่าอินเดียเป็นมาตุภูมิที่แท้จริง ขณะที่ชาวอินเดียที่ครอบครัวย้ายถิ่นเข้ามายังกรุงเทพมหานครก่อนศตวรรษที่ 21 แม้จะไม่ได้มีการรักษาสัมพันธ์กับประเทศอินเดียได้อย่างแนบแน่น แต่ก็สามารถคงอัตลักษณ์บางประการไว้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะวิถีปฏิบัติทางศาสนา เนื่องจากมีการสร้างชุมชนชาวอินเดียที่มีศูนย์กลางทางศาสนาหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร และมีการส่งต่อเรื่องราวและวิถีปฏิบัติภายในครอบครัวไว้ อย่างไรก็ตาม ชาวอินเดียที่ครอบครัวย้ายถิ่นเข้ามายังกรุงเทพมหานครก่อนศตวรรษที่ 21 มีการสมานลักษณ์กับสังคมกรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดีเช่นกัน เนื่องจากถือเป็นพลเมืองไทยที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย หรือเรียกว่า “กลุ่มชาวไทยเชื้อสายอินเดีย” อีกทั้งคนส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครและมุมมองของรัฐไทยมองว่าการเข้ามาของชาวอินเดียเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกัน จึงถือเป็นการสมานลักษณ์จากทั้งสองฝั่งอย่างกลมกลืน ส่วนชาวอินเดียที่ย้ายถิ่นเข้ามายังกรุงเทพมหานครในศตวรรษที่ 21 มีการสมานลักษณ์ในระดับผิวเผิน เนื่องจากระยะเวลาที่เข้ามาในกรุงเทพมหานครเป็นเพียงระยะสั้น ๆ และมีจุดประสงค์เพื่อประกอบอาชีพในระยะหนึ่งเท่านั้น ซึ่งความแตกต่างของการรักษาอัตลักษณ์และสมานลักษณ์ของชาวอินเดียทั้งสองกลุ่ม ชี้ให้เห็นว่า สาเหตุในการย้ายถิ่นและระยะเวลาในการอยู่อาศัยในดินแดนใหม่ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเข้มข้นในการคงอัตลักษณ์บ้านเกิดและการสมานลักษณ์ของชาวอินเดียกับสังคมไทย