Abstract:
สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทและแนวทางการดำเนินนโยบายของสิงคโปร์ รวมถึงยุทธศาสตร์การบริหารประเทศในสมัยพรรคกิจประชาและทำความเข้าใจถึงผลลัพธ์การใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขวิกฤติปัญหาจนสามารถพัฒนาและก้าวข้ามข้อท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ภายใต้ปัจจัยภายภายในคือการเป็นพหุสังคมหลากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์และภาษา ปัจจัยความกดดันจากภายนอกคือนโยบายแข็งกร้าวของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย สภาวการณ์ของสงครามเย็นและสงครามตัวแทนที่เกิดขึ้นใกล้ตัวในภูมิภาคจากความขัดแย้งของขั้วอำนาจเสรีนิยมและสังคมนิยม ความผันผวนในเศรษฐกิจโลกจากระบบทุนนิยมและการเปลี่ยนแปลงจากปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม ทำให้สิงคโปร์ประสบความยากลำบากในยุคสร้างชาติช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 โดยผู้วิจัยใช้กรอบการวิเคราะห์ผ่านตัวแบบรัฐพัฒนาในบริบทของคุณลักษณะพิเศษที่ทำให้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จด้วยนโยบายโดย "รัฐ" เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างโดดเด่น รวมทั้งกระจายความเจริญไปสู่พลเมืองทุกระดับเท่าเทียมกันจนรัฐเกิดความชอบธรรมในการกุมอำนาจทางการเมือง ปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบราชการเพื่อให้ภาครัฐสนับสนุนภาคธุรกิจได้อย่างเต็มที่ กระตุ้นการเจริญเติบโตผ่านนโยบายอุตสาหกรรมที่เลือกสรรโดยแนวทางของรัฐซึ่งเป็นความผสมผสานของนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถก้าวออกจากความเป็นรัฐด้อยพัฒนาในกลุ่มโลกที่สามด้วยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดสู่รัฐกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrialized Countries: NICs) และเป็นรัฐพัฒนา (developmental state) ได้ภายในระยะเวลาเพียง 3 ทศวรรษ
จากการศึกษาปัจจัยจุลภาคยังพบว่า ภายใต้การบริหารของพรรคกิจประชาที่นำโดย นาย ลีกวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกซึ่งมีวิสัยทัศน์เต็มไปด้วยประสิทธิภาพและแนวทางเป็นเอกลักษณ์ นำไปสู่ความสำเร็จในเชิงประจักษ์ด้วยยุทธวิธีดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มุ่งสร้างความสัมพันธ์กับมหาอำนาจและประเทศเพื่อนบ้านอย่างลงตัว มีวิถีพัฒนาจากภายในสังคมโดยให้คุณค่าความรู้ความสามารถ (meritocracy) ใช้การปกครองรูปแบบผสม (hybrid regime) ที่เน้นประสิทธิภาพเพื่อความอยู่รอด สร้างความเข้มแข็งและเสถียรภาพทางการเมืองด้วยการเรียนรู้ทบทวนและปรับนโยบายอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาตามความเหมาะสมต่อสภาวการณ์ นำพาประเทศให้รอดพ้นจากสภาวะสงครามและวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ส่งผลให้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ซึ่งควรค่าแก่การเป็นปทัสถานให้กับรัฐที่อยู่ในเส้นทางการพัฒนาได้อย่างดียิ่ง