Abstract:
สารนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงนโยบายความมั่นคงของรัสเซียและนาโตต่อคาลินินกราด หลังการขยายสมาชิกภาพของนาโตในปี ค.ศ. 2004 เพื่อแสดงข้อจำกัดของทฤษฎีสัจนิยมเชิงรุกของจอห์น เมียร์ไชเมอร์ ภายหลังรัฐบอลติกทั้งสามแยกตัวเป็นประเทศเอกราชจากสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1990-91 และเข้าเป็นสมาชิกนาโตในปี ค.ศ. 2004 ส่งผลให้พื้นที่คาลินินกราด ซึ่งเป็นเมืองท่าที่ปราศจากน้ำแข็งของรัสเซียเพียงแห่งเดียวในทะเลบอลติก กลายเป็นพื้นที่กึ่งถูกปิดล้อมและยิ่งมีความอ่อนไหวต่อความมั่นคงของรัสเซียนับจากนั้น
สารนิพนธ์ได้ถกเถียงว่า สัจนิยมเชิงรุกมีข้อจำกัดในการอธิบายนโยบายความมั่นคงของรัสเซียและนาโตต่อคาลินินกราด จากข้อเสนอของเมียร์ไชเมอร์ นโยบายความมั่นคงที่ดีที่สุดของมหาอำนาจในสภาวะอนาธิปไตยระหว่างประเทศ คือการขยายอำนาจให้มากที่สุด และการสกัดตัดทอนอิทธิพลของฝ่ายตรงข้ามให้เหลือน้อยที่สุดด้วยการหาทางทำให้มหาอำนาจฝ่ายนั้นอ่อนแอลงไปในทุกทาง อย่างไรก็ตาม ผลการวิเคราะห์การดำเนินนโยบายทั้งของรัสเซียและนาโตในกรณีคาลินินกราดพบข้อจำกัดของสัจนิยมเชิงรุกของเมียร์ไชเมอร์ อย่างน้อย 4 ประการ ประการแรก เป้าหมายพื้นฐานของรัฐต่างๆในสภาวะอนาธิปไตยระหว่างประเทศคือความมั่นคงมากกว่าความต้องการเป็นเจ้า รัฐจึงใช้เครื่องมือที่ต่างออกไปจากยุทธศาสตร์การขยายอำนาจในการป้องกันตนเองและเสริมสร้างความมั่นคงในภาวะอนาธิปไตย ประการที่สอง จากสมมติฐานของเมียร์ไชเมอร์ที่ว่า รัฐเป็นตัวแสดงที่มีเหตุผล กรณีศึกษาที่ยกมาพบว่ารัสเซียและรัฐสมาชิกนาโตในยุโรปต่างตระหนักถึงความเป็นไปได้อย่างมาก ที่จะเกิดภาวการณ์ความมั่นคงที่ลำบากและอันตรายต่อทุกฝ่าย ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเลือกนโยบายก้าวร้าวและยั่วยุในกรณีคาลินินกราด ทุกฝ่ายยังได้ตระหนักถึงผลประโยชน์ร่วมกันที่จะได้รับจากความร่วมมือในหลายๆด้าน ประการที่สาม แม้ว่ามีตัวแสดงสนับสนุนบางหน่วย สำหรับยุทธศาสตร์เชิงรุกดังที่เมียร์ไชเมอร์ได้กล่าวถึงในทฤษฎี แต่สถานะของนโยบายนั้นไม่ได้รับฉันทานุมัติและกระบวนการกำหนดนโยบายของแต่ละประเทศยังประกอบด้วยผลประโยชน์ที่หลากหลาย แนวคิดทางยุทธศาสตร์จำนวนมาก ที่จะใช้สานต่อและปกป้องผลประโยชน์เหล่านั้น นอกเหนือไปจากทางเลือกที่ก้าวร้าวทางทหาร ประการที่สี่ เพื่อลดความเสียหายจากสภาวะอนาธิปไตยจากการทำให้ภาวการณ์ทางความมั่นคงในบอลติกเลวร้ายลง รัฐสมาชิกนาโตและสหภาพยุโรปเลือกใช้ความร่วมมือทางการพัฒนาเป็นเวทีนโยบายหลักเพื่อขยายประเด็นความร่วมมือด้านอื่นๆกับรัสเซีย ด้วยความคาดหวังจะเปลี่ยนคาลินินกราดและทะเลบอลติกเป็นพื้นที่แห่งผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย