Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและสำรวจประสบการณ์ของผู้ประสบเหตุการณ์ไฟไหม้ในชุมชน เขตบางยี่ขัน โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพแนวปรากฎการณ์นิยมเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจประสบการณ์ความสะเทือนใจของผู้ประสบเหตุการณ์ไฟไหม้ การเก็บข้อมูลใช้การสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างเชิงลึกและการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมในชุมชนพื้นที่เป้าหมาย โดยมีผู้ให้ข้อมูลหลัก 8 คน (ชาย 4 หญิง 4) จาก 5 ครอบครัวและผู้ให้ข้อมูลประกอบที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์อีกจำนวนหนึ่ง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์เนื้อหาและบริบท จากบทสัมภาษณ์และข้อมูลภาคสนามเพื่อสร้างข้อสรุปเชิงอุปมาน ผลการวิจัยที่สำคัญสรุปได้ดังนี้ 1) ในระหว่างเหตุการณ์ไฟไหม้ ผู้ประสบเหตุการณ์รับรู้ความรุนแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และประเมินว่าอยู่ในขอบเขตที่ควบคุมได้หรือไม่ และตอบสนองต่อเหตุการณ์โดยใช้กลไกการป้องกันตัวทางจิตเพื่อเผชิญความตกใจ ความหวาดกลัวและความเครียดที่เกิดขึ้น ในแง่ของพฤติกรรมผู้ประสบเหตุการณ์ไฟไหม้มีการตอบสนองต่อเหตุการณ์ด้วยการวิ่งหนีหรือต่อสู้ บางรายที่ยังครองสติอยู่ได้มีพฤติกรรมการตอบสนองต่อเหตุการณ์วิกฤตที่เหมาะสมจากการใคร่ครวญ 2) ภายหลังเหตุการณ์ไฟไหม้ ผู้ประสบเหตุการณ์ต้องพบกับความสูญเสียทำให้ตกอยู่ในภาวะสะเทือนใจ อันส่งผลต่อสภาพทางกายและจิตใจ บรรยากาศในครอบครัวยังเปลี่ยนแปลงไปจากความสะเทือนใจที่สมาชิกในครอบครัวต้องเผชิญ แต่พบการช่วยเหลือกันและร่วมมือกันมากขึ้น 3) ผู้ประสบเหตุการณ์ไฟไหม้ใช้วิธีการเผชิญกับปัญหาแบบต่างๆ เพื่อทำให้ตนเองฟื้นตัวจากความสะเทือนใจ ได้แก่ การปฏิเสธ การใช้คำอธิบายเรื่องกรรม การหาสิ่งยึดเหนี่ยวใจ ความช่วยเหลือทางสังคม การคิดในทางบวก และการฝึกจิตใจ ทำให้ฟื้นตัวจากความสะเทือนใจ โดยยอมรับผลของเหตุการณ์ อยู่กับปัจจุบัน สร้างความหมายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นต้น และเกิดการเรียนรู้จากการได้ผ่านเหตุการณ์วิกฤต การอภิปรายผลกล่าวถึงวัฏจักรและผลกระทบของเหตุการณ์ไฟไหม้ วิธีการเผชิญปัญหา และการฟื้นตัวภายในครอบครัว ในท้ายที่สุดได้ กล่าวถึงข้อเสนอแนะในการนำไปใช้ในงานการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ในการวิจัยต่อไป และในการช่วยเหลือผู้ประสบภาวะวิกฤต