Abstract:
จุดมุ่งหมายของการศึกษาวิจัย เพื่อต้องการทราบว่าระบบการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย มีปัญหาที่เกี่ยวกับปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนของตัวแสดงในการบริหารงานบุคคลหรือไม่ อย่างไร พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนมีลักษณะอย่างไร มีสาเหตุและปัจจัยอะไรบ้าง มีหนทางการแก้ไขอย่างไร การศึกษาวิจัยใช้วิธีการสำรวจข้อมูลจากเอกสาร การสัมภาษณ์ การใช้กรณีศึกษา และเทคนิคเดลฟาย โดยอาศัยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเภทของพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางด้านการบริหารงานบุคคล สาเหตุการเกิดพฤติกรรมดังกล่าว และกลไกการปฎิรูประบบการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยให้เป็นไปตามหลักการบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งการวิเคราะห์กรณีศึกษาในเชิงลึกด้วย ผลการวิจัยพบว่า พฤติกรรมเบี่ยงเบนทางด้านการบริหารงานบุคคล ได้แก่การกระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น การกระทำอันไม่เป็นธรรมและการปฎิบัติที่มิชอบด้วยกฎหมาย กฎระเบียบทางด้านการบริหารงานบุคคล สาเหตุเกิดจากปัจจัยใหญ่ 3 ด้าน คือด้านพฤติกรรมภายในของตัวแสดง ที่มาจากขาดขาดการเรียนรู้ รับรู้ หรือมีแรงจูงใจ ทัศนคติ หรือค่านิยมมีลักษณะในทางลบ ทำให้ตัวแสดงกระทำการโดยไม่ยึดหลักกฎหมายกฎหมาย และหลักคุณธรรม ด้านปัจจัยสภาพแวดล้อมภายในองค์การ คือ โครงสร้างบรรทัดฐานและกระบวนบริหารงานบุคคล ที่บทบัญญัติกฎหมายมีความคลุมเครือ มีช่องว่างที่จะเกิดการใช้อำนาจที่มิชอบ หรือขาดระบบการควบคุม ถ่วงดุล การใช้อำนาจ และสัมพันธภาพระหว่างตัวแสดง ที่มีความขัดแย้งในบทบาทที่แตกต่างกันของฝ่ายการเมืองกับข้าราชการประจำ และด้านปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกองค์การ ได้แก่ การเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่มีลักษณะเป็นแบบ “ธนาธิปไตย” มีการใช้เงินเป็นปัจจัยกำหนดการตัดสินใจมากกว่าหลักการ ไม่ยึดกติกาการแข่งขันในกระบวนการทางการเมือง กีดกันคู่แข่ง การสนับสนุนบุคคลทางการเมือง แทรกแซงระบบข้าราชการประจำ เศรษฐกิจแบบระบบทุนนิยมที่เน้นวัตถุนิยม การแข่งขันปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม และสังคมวัฒนธรรมแบบระบบอุปถัมภ์ แต่อย่างไรก็ดี ปัจจัยพฤติกรรมภายในส่วนบุคคล เป็นปัจจัยสำคัญในการกลั่นกรองตัดสินใจที่จะแสดงพฤติกรรมการบริหารงานบุคคลที่ดีหรือไม่ดี แนวทางการแก้ไข ได้แก่การปรับความคิดของตัวแสดง โครงสร้าง กระบวนการ และการนำเทคนิคการบริหารจัดการมาใช้