Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจและอธิบายความต้องการเนื้อหา วิธีการสอน การจัดการเรียนการสอน และแรงจูงใจในการเรียนบทเรียนออนไลน์เรื่องการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลของนักเรียนมัธยมศึกษา ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยผสานวิธี (Mixed Methodology) ระหว่างงานวิจัยเชิงปริมาณและงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงสำรวจเป็นหลักและใช้วิธีการวิจัยแบบสัมภาษณ์เจาะลึกเป็นวิธีรองเพื่อนำมาสร้างแบบสอบถาม เริ่มจากการสัมภาษณ์นักเรียน ครู และนักวิชาการด้านเทคโนโลยีการสอน ต่อด้วยการวิจัยเชิงสำรวจซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ตอนบน ภาคใต้ตอนล่าง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 600 คน ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนมีความต้องการเนื้อหาบทเรียนออนไลน์ ได้แก่ การเข้าถึง การใช้งาน และการอ่านสื่อดิจิทัล ความรู้พื้นฐานด้านการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล การใช้สื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัย การสร้างสรรค์สื่อดิจิทัล และการเรียนรู้เพื่อการใช้ชีวิตดิจิทัลในอนาคต โดยเนื้อหาบทเรียนควรเริ่มต้นจากง่ายไปยาก ตามระดับชั้นเรียนของนักเรียน เป็นเหตุการณ์ใกล้ตัวในชีวิตประจำวันของนักเรียนในแต่ละระดับ เน้นการเรียนรู้เพื่อการใช้ชีวิตดิจิทัล และการใช้สื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัย แนวทางการสอนที่สอดคล้องกับบทเรียน ได้แก่ การสอนเชิงวิพากษ์ (Critical Approach) และการสอนแบบการประกอบสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivist Approach) โดยมีครูเป็นผู้ให้คำแนะนำ นักเรียนมีความต้องการบทเรียนออนไลน์ที่ใช้กราฟิก ใช้สี ภาพ ตัวอักษร ประกอบเนื้อหาบทเรียน ใช้สื่อผสม เพลง ดนตรี เสียงประกอบ (Sound Effect) คลิปวิดีโอ แอนนิเมชัน เทคนิคการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน และการสร้างตัวละครที่มีบุคลิกที่ใกล้ชิดเป็นวัยเดียวกัน การสร้างแรงจูงใจในการเรียน ได้แก่ จัดการเรียนตามความสนใจของนักเรียน ไม่กดดันด้วยเวลาที่จากัด เนื้อหาและกิจกรรมการเรียนที่ง่าย มีประโยชน์ต่อการนำไปใช้ ทันสมัย ใกล้ตัว มีการมอบประกาศนียบัตร มีการให้คะแนน มีครูคอยกระตุ้นให้คำแนะนำ การทดสอบสมมติฐานการวิจัยสรุปได้ว่า นักเรียนเพศหญิงมีความต้องการเนื้อหาบทเรียนมากกว่านักเรียนชาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนักเรียนมัธยมปลายมีความต้องการเนื้อหาบทเรียนมากกว่านักเรียนมัธยมต้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นักเรียนเพศหญิงมีความต้องการด้านการสอนแบบการประกอบสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivist Approach) ความต้องการใช้สื่อผสม คลิปวิดีโอ แอนนิเมชัน การสร้างตัวละครที่มีบุคลิกที่ใกล้ชิดเป็นวัยเดียวกัน การเรียนการสอนบทเรียนออนไลน์ตามอัธยาศัย และมีแรงจูงใจในการเรียน มากกว่านักเรียนชาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
Description:
สารบัญ : รูปแบบของเทคโนโลยีของการเรียนการสอน -- ความสำคัญของการสอนการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล -- การสร้างเนื้อหาสาระวิชารู้เท่าทันสื่อดิจิทัล -- การวิเคราะห์กลุ่มผู้ใช้ดิจิทัลหรือสังคมออนไลน์ -- ความสำคัญของกราฟิก ลูกเล่น เนื้อหาที่มีผลต่อแรงจูงใจการเรียนรู้สื่อดิจิทัล -- ปัจจัยและอุปสรรคของการเรียนและการสอนการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล