Abstract:
งานวิจัยนี้วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบระดับจิตลักษณะการสร้างสรรค์ (CD) ของนักพัฒนานวัตกรรมชาวไทยและตัวแปรปัจจัยเชิงสาเหตุซึ่งประกอบด้วย ปัจจัยการสนับสนุนความเป็นอิสระจากครอบครัวในการพัฒนานวัตกรรม(FS) ปัจจัยการสนับสนุนความเป็นอิสระด้านการทำงานในการพัฒนานวัตกรรม(WS) และปัจจัยแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรม(MO) จำแนกตามกลุ่มสิทธิบัตร 9 กลุ่มของนักพัฒนานวัตกรรมชาวไทย และเพื่อพัฒนาโมเดลและประมาณค่าขนาดอิทธิพลทางตรงและทางอ้อมของปัจจัยเชิงสาเหตุต่อจิตลักษณะการสร้างสรรค์ของนักพัฒนา นวัตกรรมชาวไทย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักประดิษฐ์และนักพัฒนานวัตกรรมชาวไทยที่มีผลงานนวัตกรรมซึ่งได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพานิชย์ ประเทศไทย ในช่วง 15 ปีย้อนหลัง(2547-2561) จำนวน 243 ตัวอย่าง ได้มาโดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น (stratified random sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลเบื้องต้น 1 ฉบับและแบบวัด อีก 4 ฉบับ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ทั้งสถิติเชิงบรรยายและสถิติเชิงอ้างอิง ประกอบด้วย การวิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน และการวิเคราะห์เส้นทาง ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1) ระดับของการสนับสนุนความเป็นอิสระจากครอบครัวในการพัฒนานวัตกรรม อยู่ในระดับมาก (M=3.61) การสนับสนุนความเป็นอิสระด้านการทำงานในการพัฒนานวัตกรรมมีค่าเฉลี่ยในระดับปานกลาง (M=3.53) แรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรมอยู่ในระดับปานกลาง (M=3.36 ) จิตลักษณะการสร้างสรรค์อยู่ในระดับมาก (M=4.13) 2) ผลการเปรียบเทียบจิตลักษณะการสร้างสรรค์และตัวแปรปัจจัยเชิงสาเหตุตามกรอบแนวคิดการวิจัยจำแนกตามกลุ่มสิทธิบัตรของนักพัฒนานวัตกรรมชาวไทยทั้ง 9 กลุ่ม พบว่าแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 และ 3) โมเดลเชิงสาเหตุจิตลักษณะการสร้างสรรค์ของนักพัฒนานวัตกรรมชาวไทยที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยมีลักษณะอิทธิพลที่สำคัญคือ แรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรมส่งผลทางตรงต่อจิตลักษณะการสร้างสรรค์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (β = .74, p < .001) และผลการวิจัยนี้เป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นบทบาทสำคัญของแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรมในฐานะตัวแปรที่มีอิทธิพลโดยตรงและยังมีบทบาทในฐานะตัวแปรส่งผ่านของการสนับสนุนความเป็นอิสระด้านการทำงานในการพัฒนานวัตกรรม (WS) และการสนับสนุนความเป็นอิสระจากครอบครัวในการพัฒนานวัตกรรม (FS) ต่อจิตลักษณะการสร้างสรรค์ของนักพัฒนานวัตกรรมชาวไทย