Abstract:
โรคเท้าช้าง (Lymphatic filariasis) เกิดจากหนอนพยาธิ 2 ชนิดหลัก คือ Wuchereria bancrofti และ Brugia malayi ทางองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้โรคเท้าช้างเป็นโรคทางปรสิตที่ควรกำจัดให้หมดไปภายในปี พ.ศ. 2563 โดยมีแนวทางหลักในการควบคุมและป้องกันโรคเท้าช้างคือการจัดให้มีโปรแกรมการรักษาแบบหมู่แก่ประชากรในพื้นที่ที่มีความชุกของโรคสูง และการควบคุมพยาธิภาวะ ทั้งนี้ โครงการกำจัดโรคเท้าช้างขององค์การอนามัยโลกได้กำหนดเป้าหมายในการควบคุมโรคให้มีอัตราความชุกของการติดเชื้อเหลืออยู่ร้อยละ 1 จากการตรวจแอนติเจนที่จำเพาะ หรือร้อยละ 0.2 เมื่อตรวจหาไมโครฟิลาเรียในกระแสเลือด อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญของการประเมินผลการสำเร็จของโครงการจำเป็นต้องมีวิธีการวินิจฉัยที่มีความไวสูง เพื่อสามารถประเมินสถานการณ์ที่แท้จริงของโรคได้ ชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างที่มีขายในปัจจุบัน สามารถวินิจฉัยได้เฉพาะโรคเท้าช้างที่เกิดจาก W. bancrofti ยังไม่มีชุดตรวจที่มีความไวสูงสำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคที่เกิดจาก B. malayi การศึกษานี้จึงได้พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้าง โดยตรวจหาแอนติเจน และ/หรือแอนติบอดีต่อแบคทีเรีย Wolbachia ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ตรวจพบได้ในพยาธิฟิลาเรียเท่านั้นและตรวจพบทั้งในพยาธิ W. bancrofti และ B. malayi เพื่อนำมาพัฒนาชุดตรวจที่สามารถวินิจฉัยโรคเท้าช้างได้ทั้งสองชนิด และไม่พบปฏิกิริยาข้ามกับปรสิตชนิดอื่นๆ ทั้งนี้จากการทบทวนวรรณกรรม ผู้วิจัยได้คัดเลือกแอนติเจน 2 ชนิด ซึ่งเป็นแอนติเจนที่มีปริมาณมากที่สุดของแบคทีเรีย และมีความเป็นแอนติเจนสูง ได้แก่ Wolbachia Surafe Protein (WSP) และ peptidoglycan-associated lipoprotein (PAL) โดยผลการศึกษาในปีแรกนี้ ได้ทำการสกัดโปรตีนจากแบคทีเรียโวลบาเชียที่แยกจากหนอนพยาธิหัวใจสุนัข และผลิต recombinant antigen ทั้งสองชนิด ตลอดจนผลิต polyclonal anti-Wolbachia antibodies, polyclonal anti-rWSP antibodies และ polyclonal anti-rPAL antibodies พร้อมทั้งทำการแยกแอนติบอดีบริสุทธิ์ เพื่อทำการสังเคราะห์อนุภาคทองคำระดับนาโน (AuNPs) และนำมาติดกับแอนติบอดี เพื่อพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้าง ชนิด lateral flow strip ต่อไป นอกจากนี้ ยังได้ทำการสำรวจโรคเท้าช้างในแรงงานชาวพม่า ในจังหวัดสมุทรสาคร และชาวกะเหรี่ยงกับชาวมอญในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นแหล่งชุกชุมของโรคเท้าช้าง โดยการเจาะเลือดในเวลากลางคืน สามารถรวบรวมอาสาสมัครได้จำนวนทั้งสิ้น 142 ราย อย่างไรก็ตาม จากการตรวจวินิจฉัยโดยชุดตรวจวินิจฉัย Og4C3 ELISA และตรวจหาไมโครฟิลาเรียกระแสเลือด ไม่พบการติดเชื้อโรคเท้าช้างในอาสาสมัครทั้ง 142 ราย ผู้วิจัยจึงได้รวบรวมตัวอย่างซีรัมของผู้ป่วยโรคเท้าช้างจากโครงการก่อนหน้า ซึ่งสามารถรวบรวมได้ทั้งสิ้น 195 ตัวอย่าง ขณะนี้ผู้วิจัยอยู่ในระหว่างการรวบรวมตัวอย่างผู้ติดเชื้อปรสิตอื่น เพื่อนำตัวอย่างเลือดผู้ป่วยโรคเท้าช้าง คนปกติในพื้นที่ชุกชุมของโรค และผู้ติดเชื้อปรสิตอื่น มาทดสอบความไวและความจำเพาะของชุดตรวจ lateral flow strip ต่อไป