Abstract:
อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นและความเค็มที่ลดลงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวในปะการังและสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง เพื่อให้ทราบผลของปัจจัยดังกล่าว จึงได้ทำการศึกษาความทนทานต่ออุณหภูมิและความเค็มใน zooxanthellae ที่แยกจาก ปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora damicornis), ปะการังดอกเห็ด (Fungia sp.) และ ดอกไม้ทะเล (Epiactis sp.) โดยทำการแยกเลี้ยงเซลล์ zooxanthellae แบบปลอดเชื้อที่ 33 องศาเซลเซียส โดยประกอบด้วย 5 ระดับความเค็ม ได้แก่ 10, 15, 25, 28 (ควบคุม) และ 33 psu ทำการสุ่มนับเซลล์ทุก 2 วัน เป็นเวลา 14 วัน พบว่า ความหนาแน่นเซลล์ zooxanthellae ที่แยกจากปะการังทั้ง 2 ชนิด ลดลงอย่างรวดเร็วและเซลล์ส่วนใหญ่ตายในวันที่ 8 ของการทดลอง สำหรับเซลล์ zooxanthellae ที่แยกจากดอกไม้ทะเล ที่ระดับความเค็มต่ำ (10, 15 และ 25 psu) ความหนาแน่นเซลล์จะลดลงอย่างรวดเร็วและเซลล์ส่วนใหญ่ตายในวันที่ 8 ของการทดลอง แต่ที่ระดับความเค็มสูง (28 และ 33 psu) ความหนาแน่นเซลล์จะค่อยๆลดลง และเซลล์ส่วนใหญ่ตายเมื่อสิ้นสุดการทดลอง (วันที่ 14) จากผลการทดลองชี้ให้เห็นว่า zooxanthellae ที่ทนทานต่ออุณหภูมิและความเค็มมากที่สุด คือ zooxanthellae ที่แยกจากดอกไม้ทะเล