Abstract:
จากการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของผึ้งและชันโรง ในพื้นที่ อพ.สธ. บริเวณพื้นที่ศึกษาเขาวังเขมร อำเภอไทรโยค พื้นที่เขื่อนศรีนครินทร์ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี และพื้นที่สถานีวิจัยคัดเลือกและบำรุงพันธุ์สัตว์ และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน พบว่าพื้นที่ศึกษาเขาวังเขมรมีความหลากหลายของชนิดชันโรงมากที่สุด คือ 9 ชนิด รองลงมา คือ พื้นที่เขื่อนศรีนครินทร์ พบ 7 ชนิด ส่วนพื้นที่ศึกษาสถานีวิจัยคัดเลือกและบำรุงพันธุ์สัตว์ ตำบลไหล่น่าน พบน้อยที่สุด คือ 4 ชนิด โดยในแต่ละพื้นที่มีชันโรงชนิดเด่นที่แตกต่างกันออกไป พื้นที่เขื่อนศรีนครินทร์และสถานีวิจัยฯ ตำบลไหล่น่าน พบชันโรง Tetragonilla collina เป็นชนิดเด่น ส่วนพื้นที่เขาวังเขมร พบชันโรง Lepidotrigona terminata เป็นชนิดเด่น และพบว่าชันโรง Tertigona apicalis เป็นชนิดที่มีการแพร่กระจายมากที่สุดในทั้งสามพื้นที่ สำหรับความหลากหลายของผึ้งให้น้ำหวาน ในแต่ละพื้นที่มีความหลากหลายเท่าๆ กัน แต่มีชนิดที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่ เช่น พื้นที่เขาวังเขมร ไม่พบผึ้งให้น้ำหวานชนิด Apis andreniformis ในขณะที่พื้นที่เขื่อนศรีนครินทร์ ไม่พบชนิด A. dorsata ส่วนพื้นที่สถานีวิจัยฯ ที่ตำบลไหล่น่าน พบผึ้งให้น้ำหวานเพียง 2 ชนิด คือ A. cerana และ A. florea สารสกัดพรอพอลิสจากปากทางเข้ารังของชันโรง T. apicalis และ T. collina จากจังหวัดน่าน มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นสารในกลุ่ม Sesquiterpenes และพบว่ามีสารประกอบหลักอย่างน้อย 1 สารที่เป็นองค์ประกอบร่วมในสารสกัดพรอพอลิสจากปากทางเข้ารังของชันโรงทั้งสองชนิด ผลการทดสอบความสามารถในการยับยั้งเชื้อราก่อโรคผิวหนังในคน 5 ชนิด พบว่า สารสกัดพรอพอลิสจากปากทางเข้ารังชันโรงทั้งสองชนิด สามารถยับยั้งเชื้อราก่อโรคผิวหนังได้ 3 ชนิด คือ Microsporum gypseum, M. carnis และ Epidermophyton flocosum ที่ค่าเปอร์เซ็นต์การยับยั้งมากกว่า 50% โดยที่เมื่อเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น ฤทธิ์ในการยับยั้งจะสูงขึ้น