Abstract:
การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของซิลิเอตส่วนใหญ่อาศัยข้อมูลทางสัณฐานวิทยาเป็นพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม การศึกษาในระดับสัณฐานวิทยาของซิลิเอตบางครั้งอาจทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากซิลิเอตเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็ก และบ่อยครั้งต้องอาศัยเทคนิคอื่นเข้าช่วยในการศึกษา นอกจากนี้ในบางกลุ่มอาจพบมีชนิดซ่อนเร้นที่ไม่แสดงความแตกต่างทางสัณฐานวิทยาแต่แตกต่างในระดับพันธุกรรม เพื่อให้ได้ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพที่ถูกต้องครอบคลุมมากที่สุด ปัจจุบันจึงมีการประยุกต์ใช้เทคนิคทางอณูชีววิทยาที่มีความไวสูง ช่วยในการประเมินความหลากหลายทางชีวภาพร่วมด้วย การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ และความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการระดับโมเลกุลของ ซิลิเอตที่อาศัยอยู่ตามช่องว่างระหว่างเม็ดทราย บริเวณหาดลูกลม เกาะแสมสาร จังหวัดชลบุรี โดยใช้ลำดับนิวคลีโอไทด์ของสมอลซับยูนิตไรโบโซมอลดีเอ็นเอเป็นเครื่องหมายโมเลกุล ทำการเก็บตัวอย่างทรายและคัดแยกโพรติสต์ออกจากตัวอย่างเพื่อสกัดดีเอ็นเอ จากนั้นทำการเพิ่มจำนวนสมอลซับยูนิตไรโบโซมอลดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่โพลิเมอเรส โคลนยีนที่เพิ่มจำนวนได้ และหาลำดับนิวคลีโอไทด์จากตัวอย่างที่ศึกษา จากการวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์ที่ได้ทั้งหมด 39 สาย พบว่าจำนวน 24 สายมีความใกล้เคียงกับซิลิเอต 8 สกุล ได้แก่ Geleia, Holosticha, Kentrophoros, Orthamphisiella, Paradiscocephalus, Pleuronema, Protogastrostyla และ Trachelocerca และลำดับที่ไม่สามารถระบุสกุลได้จำนวน 3 สาย นอกจากนี้อีก 12 สาย พบมีความใกล้เคียงกับโพรติสต์กลุ่มอื่น การศึกษาความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการระดับโมเลกุลของซิลิเอตที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้กับซิลิเอตชนิดอื่นที่ได้จากฐานข้อมูล GenBank พบลำดับนิวคลีโอไทด์หลายสายจับกลุ่มกันโดยแสดงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับซิลิเอตทั้งที่สามารถระบุกลุ่มได้และไม่สามารถระบุได้ นอกจากนี้ยังพบลำดับนิวคลีโอไทด์ที่จับกลุ่มกันเอง โดยไม่แสดงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับซิลิเอตกลุ่มใด ซึ่งน่าจะชี้ให้เห็นถึงการเป็นกลุ่มทางวิวัฒนาการใหม่ที่ถูกค้นพบในการศึกษาครั้งนี้