Abstract:
เกาะเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญต่อนกหลายชนิดและมีความเปราะบางเสี่ยงต่อการถูกรบกวนโดยมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ จึงมีความจำเป็นในหาแนวทางอนุรักษ์ แต่อย่างไรก็ตามเกาะในท้องทะเลไทยมีมากมาย แต่ละเกาะมีลักษณะที่แตกต่างกัน ซึ่งการที่จะวางแผนหรือดำเนินการเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายของนกบนเกาะทุกเกาะพร้อมๆ กันย่อมกระทำได้ยาก จึงควรมีการศึกษาเพื่อจัดลำดับเกาะต่างๆ ที่มีความสำคัญในแง่การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์กลุ่มนก ประกอบกับยังไม่มีการทำฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ของนกที่อาศัยตามเกาะต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการวางแผนการอนุรักษ์ในระยะยาว การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ของนกที่สำรวจพบตามเกาะต่างๆ ในทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ในพื้นที่โครงการ อพ.สธ. โดยใช้ข้อมูลการสำรวจนกของ วีณา เมฆวิชัย (2554) และ วีณา เมฆวิชัยและพงชัย หาญยุทธนากร (2554) เป็นข้อมูลหลัก และจัดลำดับความสำคัญของเกาะต่างๆ ตามความเร่งด่วนในการอนุรักษ์ โดยพิจารณาจากการพบนกที่มีความเสี่ยงระดับต่างๆ ตามเกณฑ์ของบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature) หรือ IUCN Red List of Threatened Species), อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ , Thailand Red Data และการเป็นพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นก รวมถึงขนาด ระยะห่างจากชายฝั่งและการรบกวนของมนุษย์ ทำการถ่วงน้ำหนักคะแนนของเกณฑ์ต่างๆ แล้วนำคะแนนรวมทุกหมวดมาใช้จัดลำดับความสำคัญของเกาะ ผลการศึกษาพบรายการแก้ไขตัวสะกดและปรับปรุงชื่อไทย ชื่อสามัญและชื่อวิทยาศาสตร์ ของข้อมูลจากงานวิจัยก่อนหน้ารวมทั้งสิ้นจำนวน 84 รายการ และได้ทำการสร้างฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ โดยสร้างชั้นข้อมูลขอบเขตของเกาะ ขนาดและระยะห่างจากชายฝั่ง ในรูปแบบ shapefile และไฟล์สำหรับเชื่อมโยงข้อมูลอรรถาธิบาย (attribute data) เพิ่มเติม ซึ่งได้แก่ ไฟล์ข้อมูลนกที่พบตามเกาะต่างๆ และสถานภาพของนกตามเกณฑ์ขององค์กรอนุรักษ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลการจัดลำดับพบว่า เกาะที่ควรอนุรักษ์เร่งด่วน เพื่อรักษาความหลายหลายทางชีวภาพของสัตว์กลุ่มนก 10 อันดับแรก ได้แก่ เกาะตะรุเตาและเกาะกาเบ็ง จังหวัดสตูล, เกาะยาวใหญ่ เกาะยาวน้อย เกาะระ เกาะพระทอง กลุ่มเกาะสิมิลัน-เมียง และ กลุ่มเกาะเกาะหูยง-ปาหยัน จังหวัดพังงา, เกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช และเกาะแสมสาร จังหวัดชลบุรี เกาะเหล่านี้มีลักษณะเด่นที่ต่างกันจึงต้องอาศัยแนวทางการอนุรักษ์ที่ต่างกัน โดยอาจเน้นการอนุรักษ์ระดับชนิด (species-based approach) หรือระดับระบบนิเวศ (ecosystem-based approach) หรือต้องดำเนินการควบคู่กัน