Abstract:
ได้หาภาวะที่เหมาะสมและตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีวิเคราะห์ด้วยเทคนิคอัลตราไฮเพอร์ฟอร์ แมนซ์ลิควิดโครมาโทกราฟี-แทนเดมแมสสเปกโทรเมตรี (UHPLC-MS/MS) สำหรับปริมาณวิเคราะห์ของสารประกอบฟลาโวนอยด์หลัก 4 ชนิด ได้แก่ alpinetin, pinocembrin, cardamonin และ pinostrobin รวมถึงสารตั้งต้นหลักของฟลาโวนอยด์ 2 ชนิด ได้แก่ phenylalanine และ cinnamic acid จากกระชาย 2 ส่วน คือ ส่วนเหง้าและส่วนราก ได้ใช้ภาวะของการวิเคราะห์ด้วย UHPLC-MS/MS ดังต่อไปนี้ คือ เฟสเคลื่อนที่แบบเกรเดียนท์ของกรดฟอร์มิกในน้ำ 0.1% โดยปริมาตรต่อปริมาตร และกรดฟอร์มิกในอะซิโตไนไตรล์ 0.1% โดยปริมาตรต่อปริมาตร อัตราการไหล 0.2 มิลลิลิตรต่อนาที และใช้คอลัมน์ Zorbax SB-C18 (ขนาด 2.1x50 มิลลิเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของอนุภาค 1.8 ไมโครเมตร) และปริมาตรสารตัวอย่างที่ฉีด 2 ไมโครลิตร ผลการทดลองได้ขีดจำกัดของการตรวจวัดอยู่ในช่วง 0.0047-0.042 มิลลิกรัมต่อลิตร และขีดจำกัดของการวิเคราะห์เชิงปริมาณอยู่ในช่วง 0.014-0.13 มิลลิกรัมต่อลิตร เมื่อนำสารละลายของสารสกัดตัวอย่างกระชายมาเติมฟลาโวนอยด์ที่ทราบความเข้มข้น 0.05-25 มิลลิกรัมต่อลิตร ลงไปในสารละลายของสารสกัดตัวอย่าง 1 มิลลิลิตร ที่ได้จากการสกัดตัวอย่างกระชาย 1 กรัมด้วยตัวทำละลายเมทานอลและน้ำ (ในอัตราส่วน 50:50 โดยปริมาตร) ปริมาตร 10 มิลลิลิตร แล้วพบว่าร้อยละ 52 ของข้อมูลร้อยละการกลับคืนของการสกัด และร้อยละ 85 ของข้อมูลส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานสัมพัทธ์ อยู่ในช่วงของเกณฑ์ที่ยอมรับได้ สำหรับการวิเคราะห์ตัวอย่างกระชายส่วนเหง้าและส่วนราก จากแหล่งเพาะปลูก 4 จังหวัด พบว่าส่วนเหง้ามีปริมาณฟลาโวนอยด์มากกว่าส่วนราก 1.3-6.0 เท่า โดยที่ปริมาณ pinostrobin > pinocembrin > alpinetin > cardamonin ยกเว้นเพชรบูรณ์ที่ pinocembrin > alpinetin > pinostrobin > cardamonin นอกจากนี้ยังพบสารตั้งต้นของฟลาโวนอยด์ โดยที่ phenylalanine > cinnamic acid และปริมาณของฟลาโวนอยด์ทั้งหมดมากกว่าปริมาณสารตั้งต้นดังกล่าว 30-200 เท่า