Abstract:
ปัจจุบัน การใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาแบบวิวิธพันธุ์ในปฏิกิริยาซูซูกิครอสคับปลิงแบบต่อเนื่อง เป็นปฏิกิริยาที่ให้ประสิทธิภาพสูงในการสังเคราะห์สารประกอบไบแอริลในระดับอุตสาหกรรม จากงานวิจัยที่ผ่านมามีการสังเคราะห์ตัวเร่งปฏิกิริยาแบบวิวิธพันธุ์โดยใช้ตัวรองรับที่แตกต่างกันมากมาย แต่มีวิธีการสังเคราะห์ที่ค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยาก นอกจากนี้วัสดุที่ใช้ยังมีราคาแพง ดังนั้นในงานวิจัยนี้จึงสนใจที่จะสังเคราะห์ตัวเร่งปฏิกิริยาแพลเลเดียมบนแคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกหอยแมลงภู่สำหรับปฏิกิริยาซูซูกิครอสคับปลิงแบบต่อเนื่อง (Pd/ICCP) ซึ่งสามารถเตรียมได้โดยใช้วิธี Impregnation-reduction ของแพลเลเดียมลงไปบนเปลือกหอยแมลงภู่ และหาปริมาณของแพลเลเดียมบน ICCP ได้จาก Inductively Coupled Plasma Optical Emission Spectrometer (ICP-OES) จากนั้นหาสภาวะที่เหมาะสมสำหรับปฏิกิริยาซูซูกิครอสคับปลิงแบบต่อเนื่อง ระหว่าง 4-ไอโอโดอะนิโซลและฟีนิลโบโรนิกแอซิด พบว่า ปริมาณตัวเร่งปฏิกิริยา 0.5 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก ใช้โพแทสเซียมคาร์บอเนตเป็นเบสในตัวทำละลายเอทานอลและน้ำอัตราส่วน 3:2 residence time 2 ชั่วโมงที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส สามารถเปลี่ยนสารตั้งต้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่สนใจได้ 100 เปอร์เซ็นต์