Abstract:
งานวิจัยนี้แบ่งการวิจัยอกเป็น 2 ส่วนคือ การสังเคราะห์เฮกซะโนอิลไคโตซานและการนำเอาเฮกซะโนอิลไปผสมกับพอลิแลคไทด์แล้วขึ้นรูปเป็นแผ่นฟิล์ม เพื่อศึกษาสมบัติของแผ่นฟิล์มผสมดังกล่าว โดยในส่วนแรกนั้นสามารถสังเคราะห์เฮกซะโนอิลไคโตซานได้จากการทำปฏิกิริยาของไคโตซานกับเฮกซะโนอิลคลอไรด์ซ้ำกันหลายครั้ง โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้นี้จะมีค่าการเกิดปฏิกิริยาของเฮกซะโนอิลไคโตซานเป็น 2.06 3.78 3.91 และ 3.92 เมื่อทำปฏิกิริยาครั้งที่ 1 2 3 และ 4 ตามลำดับ ในงานวิจัยนี้ได้ศึกษาทั้งโครงสร้างทางเคมีและโครงสร้างทางผลึกของเฮกซะโนอิลไคโตซาน ในการศึกษาสมบัติการละลายของเฮกซะโนอิลไคโตซานพบว่าเมื่อค่าการเกิดปฏิกิริยาของเฮกซะโนอิลไคโตซานเพิ่มขึ้น การละลายของเฮกซะโนอิลไคโตซานในตัวทำละลายอินทรีย์ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้จากการศึกษาสมบัติทางความร้อนของเฮกซะโนอิลไคโตซานพบว่า ความต้านทานต่อความร้อนและความเป็นผลึกของเฮกซะโนอิลไคโตซานจะต่ำกว่าของไคโตซานเนื่องจากการหายไปของพันธไฮโดรเจนและการมีหมู่สายโซ่ย่อยขนาดใหญ่ซึ่งจะทำให้การอัดตัวของสายโซ่หลักของเฮกซะโนอิลไคโตซานทำได้ยากขึ้น ส่วนในส่วนที่ 2 ซึ่งเป็นการผสมเฮกซะโนอิลโตซานกับพอลิแลคไทด์แล้วขึ้นรูปเป็นแผ่นฟิล์มโดยมีคลอโรฟอร์มเป็นตัวทำละลายนั้น จากสมบัติต่างๆ ของแผ่นฟิล์มผสมเฮกซะโนอิลไคโตซาน-พอลิแลคไทด์ที่ได้วิเคราะห์นั้นสามารถสรุปได้ว่าโมเลกุลของเฮกซะโนอิลไคโตซานมีความเข้ากันได้เพียงบางส่วนในส่วนที่เป็นอสัณฐานกับโมเลกุลของพอลิแลคไทด์เมื่อในแผ่นฟิล์มผสมมีสัดส่วนโดยน้ำหนักของเฮกซะโนอิลไคโตซานน้อยกว่า 40% และเมื่อเพิ่มสัดส่วนโดยน้ำหนักของเฮกซะโนอิลไคโตซานมากขึ้นพบว่าโมเลกุลของเฮกซะโนอิลไคโตซานและโมเลกุลของพอลิแลคไทด์มีการแยกเฟส หรืออาจกล่าวได้ว่าคู่ผสมระหว่างเฮกซะโนอิลไคโตซานกับพอลิแลคไทด์เป็นคู่ผสมที่เข้ากันไม่ได้ (Immiscible blend) เมื่อสัดส่วนโดยน้ำหนักของเฮกซะโนอิลไคโตซานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้จากการศึกษาสมบัติการสลายตัวทางชีวภาพของแผ่นฟิล์มเฮกซะโนอิลไคโตซาน-พอลิแลคไทด์ พบว่าเอมไซม์โปรตีนเนส-เคเป็นเอมไซม์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการย่อยสลายแผ่นฟิล์มเฮกซะโนอิลไคโตซาน-พอลิแลคไทด์