Abstract:
งานวิจัยนี้เกี่ยวข้องกับการออกแบบและสังเคราะห์ฟลูออเรสเซนต์เซนเซอร์สำหรับฟอร์มาลดีไฮด์ที่มี อนุพันธ์คูมารินเป็นฟลูออโรฟอร์และมีหมู่ไฮดราไซด์เป็นส่วนรับรู้ การออกแบบเซนเซอร์นี้มีสมมติฐานว่าหมู่ ไฮดราไซด์จะสามารถยับยั้งสัญญาณฟลูออเรสเซนต์ของคูมารินได้ด้วยกระบวนการถ่ายเทอิเล็กตรอนที่ถูก เหนี่ยวนำด้วยแสง และเมื่อหมู่ไฮดราไซด์เกิดปฏิกิริยาควบแน่นกับฟอร์มาลดีไฮด์แล้ว สัญญาณฟลูออเรสเซนต์ ของเซนเซอร์จะเพิ่มสูงขึ้นเพราะกระบวนการถ่ายเทอิเล็กตรอนถูกระงับไป โดยการสังเคราะห์เริ่มด้วย ปฏิกิริยา ควบแน่นระหว่างซาลิไซลัลดีไฮด์กับไดเอธิลมาโลเนต ได้ผลิตภัณฑ์เป็นคูมารินที่มีหมู่ฟังก์ชันเอธิลเอสเทอร์ จากนั้นนำไปทำปฏิกิริยากับไฮดราซีนจะได้ผลิตภัณฑ์เป็นของแข็งสีขาวที่มีหมู่คาร์โบไฮดราไซด์ และเพื่อเป็น การเพิ่มความสามารถในการละลายน้ำของเซนเซอร์ ผลิตภัณฑ์ที่มีหมู่ไฮดราไซด์ได้ถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปเกลือ ไฮโดรคลอไรด์ด้วยการตกตะกอนกับแก๊สไฮโดรเจนคลอไรด์ในตัวทำละลายอินทรีย์ สารที่สังเคราะห์ได้ทุกชนิด ได้ถูกพิสูจน์เอกลักษณ์และยืนยันโครงสร้างด้วยเทคนิคนิวเคลียร์แมกเนติกเรโซแนนซ์ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่เริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ทำให้รัฐบาลไทยและ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประกาศปิดสถานศึกษาเพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัส จึงทำให้โครงการนี้ยังไม่ได้มี การศึกษาสมบัติเชิงแสงและประสิทธิภาพในการตรวจวัดฟอร์มาลดีไฮด์ของเซนเซอร์ที่สังเคราะห์ได้