Abstract:
งานวิจัยนี้ทำการศึกษาการตรวจวัดพาราควอตบนผิวขั้วไฟฟ้าพิมพ์สกรีนชนิดคาร์บอน (ขั้วไฟฟ้า C) คาร์บอนเคลือบทอง (ขั้วไฟฟ้า C/Au) และทอง (ขั้วไฟฟ้า Au) ด้วยเทคนิคสแควร์เวฟโวลแทมเมทรีและเทคนิคอิมพีแดนซ์สเปกโตรสโคปี เริ่มจากการเคลือบทองลงบนขั้วไฟฟ้า C พบว่ามีอนุภาคทองเคลือบบนผิวขั้วไฟฟ้าทำงาน 8.71% ของผิวหน้าขั้วไฟฟ้าทำงานทั้งหมด และเปรียบเทียบสัญญาณความต้านทานของขั้วไฟฟ้าพิมพ์สกรีนทั้ง 3 ชนิด พบว่าขั้วไฟฟ้า C มีความต้านทานสูงที่สุด ตามด้วยขั้วไฟฟ้า C/Au และขั้วไฟฟ้า Au ตามลำดับ จากนั้นวัดสัญญาณพาราควอตบนผิวขั้วไฟฟ้าพิมพ์สกรีนทั้ง 3 ชนิดด้วยเทคนิค สแคว์เวฟโวลแทมเมทรี พบว่าขั้วไฟฟ้า C มีการตอบสนองต่อสัญญาณของพาราควอตได้ดีกว่าขั้วไฟฟ้า C/Au ที่บริเวณศักย์ไฟฟ้า -0.65 โวลต์ ขณะที่ขั้วไฟฟ้า Au ไม่สามารถวัดสัญญาณพาราควอตได้ ต่อมาทำการวัดความต้านทานของพาราควอตความเข้มข้น 1, 5 และ 10 มิลลิกรัมต่อลิตร บนผิวขั้วไฟฟ้า C และขั้วไฟฟ้า C/Au ด้วยเทคนิคอิมพีแดนซ์สเปกโตรสโคปี พบว่าขั้วไฟฟ้า C ให้สัญญาณความต้านทานต่ำมาก ในขณะที่ไฟฟ้า C/Au สามารถวัดค่าความต้านทานได้ 180, 84 และ 24 มิลลิโอห์ม ตามลำดับ