Abstract:
การเปลี่ยนรูปทางชีวภาพ (Biotransformation) เป็นกระบวนการแปลงเปลี่ยนสารเป็นสารใหม่ด้วยวิธีการทางชีวภาพ เช่น จุลินทรีย์ งานวิจัยนี้ต้องการนำวิธีการเปลี่ยนรูปทางชีวภาพมาเปลี่ยนโครงสร้างทางโมเลกุลของสารสำคัญหลักที่พบในกากขิงให้เป็นสารใหม่ ที่อาจมีฤทธิ์ดีกว่าหรือแตกต่างไปจากเดิม ซึ่งอาจช่วยเพิ่มมูลค่าให้กากขิงได้ ผู้วิจัยได้แยกรา 12 สายพันธุ์จากดินใต้ต้นขิง ได้แก่ ราสายพันธุ์ GS1, GS2, GS3, GS4, GS6, GS7, GS8, GS10, GS12, GS13, GS14 และ GS15 และศึกษาความสามารถของราเหล่านี้ในการเปลี่ยนรูปทางชีวภาพของสารสำคัญหลักในสารสกัดจากกากขิง เช่น 6-gingerol และ 6-shogaol ซึ่งพบว่า ราเหล่านี้สามารถเปลี่ยนสารสำคัญหลักในสารสกัดจากกากขิงเป็นผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันทั้งหมด 8 ชนิด ในราเหล่านี้ มีรา 5 สายพันธุ์ ได้แก่ ราสายพันธุ์ GS1, GS3, GS6, GS7, และ GS14 ที่มีความสามารถเปลี่ยนสารตั้งต้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีพื้นที่ใต้พีคค่อนข้างสูงในโครมาโทแกรม HPLC อีกทั้งยังครอบคลุมกับพีคของผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากราสายพันธุ์อื่น ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาหาภาวะที่เหมาะสมที่สุดต่อการเก็บและแยกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดขึ้นจากรา 5 สายพันธุ์นี้ โดยวิเคราะห์จากการเปลี่ยนแปลงของพี้นที่ใต้พีคของสารตั้งต้น คือ 6-gingerol และ 6-shogaol ในสารสกัดจากกากขิง และผลิตภัณฑ์ใหม่จากการเปลี่ยนรูปทางชีวภาพ ซึ่งมีเวลาบนโครมาโทแกรม HPLC ต่างออกไปจากชุดควบคุมที่ไม่มีราที่เวลาต่าง ๆ จากการทดลอง พบว่า ราสายพันธุ์ GS1, GS3, GS6 และ GS7 สามารถเปลี่ยนรูปทางชีวภาพได้ทั้ง 6-gingerol และ 6-shogaol โดย GS1 และ GS3 ให้ผลิตภัณฑ์ที่เวลา 12.9 นาที โดยภาวะที่เหมาะสมที่สุดต่อการเก็บและแยกผลิตภัณฑ์นี้คือที่เวลา 3 และ 2 วันหลังการบ่ม ตามลำดับ, GS6 ให้ผลิตภัณฑ์ที่เวลา 15.9 และ 19.5 นาที และภาวะที่เหมาะสมที่สุดคือที่ เวลา 2 วัน หลังการบ่ม และ GS7 ให้ผลิตภัณฑ์ที่เวลา 10.7, 15.4, 19.5 และ 23.1 นาที ภาวะที่เหมาะสมที่สุด คือ ที่เวลา 7,7,1 และ 3 วันหลังการบ่ม ตามลำดับ ในขณะที่ราสายพันธุ์ GS14 สามารถเปลี่ยนรูปทางชีวภาพของ 6-shogaol เท่านั้น และให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เวลา 19.5 นาที ซึ่งภาวะที่เหมาะสมที่สุดต่อการเก็บและแยกผลิตภัณฑ์นี้คือ ที่เวลา 2 วันหลังการบ่ม ผลการทดลองนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพิสูจน์เอกลักษณ์ของสารผลิตภัณฑ์ และการแยกสารเพื่อทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพทั้งต่อสุขภาพและทางการเกษตรต่อไป