Abstract:
การสำรวจภาคสนามร่วมกับโครงการ อพ.สธ.-ทร. ในระหว่างปี พ.ศ. 2553-2556 ในพื้นที่หมู่เกาะและทะเลไทย 4 พื้นที่ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา เกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะไข่ เกาะเวียง จ.ชุมพร และ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จ.กระบี่ พบสัตว์เลื้อยคลานในอันดับ Squamata อันดับย่อย Lacertilia 21 ชนิด โดยพบว่าสัตว์กลุ่มจิ้งเหลน (วงศ์ Scincidae) มีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นตัวแทนในการศึกษาสุขภาวะและชีววิทยาการสืบพันธุ์ของสัตว์เลื้อยคลานในระบบนิเวศเกาะ โดยมีการกระจายที่กว้างขวางครอบคลุมพื้นที่หมู่เกาะและทะเลไทยโดยทั่วไป สามารถสำรวจพบได้ทั้งในฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย สามารถพบและเก็บตัวอย่างได้ค่อนข้างง่าย มีขนาดลำตัวที่เหมาะสมต่อการเก็บตัวอย่าง ทั้งยังไม่เป็นสัตว์ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หรือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองด้วย โดยพิจารณาเลือก จิ้งเหลนบ้าน Eutropis multifasciata เป็นตัวแทนของสัตว์จากพื้นที่ฝั่งอันดามัน และ จิ้งเหลนเรียวท้องเหลือง Lygosoma bowringii เป็นตัวแทนของสัตว์จากพื้นที่ฝั่งอ่าวไทย
การประเมินสุขภาวะจากค่าทางโลหิตวิทยา พบว่าจิ้งเหลนบ้าน และ จิ้งเหลนเรียวท้องเหลือง มีจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวคิดเป็นร้อยละ 5.4 + 2.2 และ 7 + 2.8 ของจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดง (ตามลำดับ) ซึ่งมีค่าสูงกว่าค่าอ้างอิงในสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มใกล้เคียงและมีค่าสูงกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมค่อนข้างมาก ซึ่งแสดงถึงบทบาทของเซลล์เม็ดเลือดขาวกับการดำรงชีวิตบนพื้นดินในธรรมชาติของสัตว์กลุ่มนี้ และเมื่อนำมานับแยกสัดส่วนเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดย่อย พบว่าเซลล์เม็ดเลือดขาวกลุ่ม agranulocyte เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดเด่น ส่วนเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด granulocyte จะพบได้น้อยกว่าและมีความแตกต่างเด่นชัดเมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มอ้างอิง ซึ่งการที่สัตว์เลื้อยคลานในอันดับ Squamata อันดับย่อย Lacertilia มีเซลล์เม็ดเลือดขาวแตกต่างกันทั้งด้านจำนวนและชนิด แสดงให้เห็นความหลากหลายเชิงนิเวศสรีรวิทยา ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงบทบาทของเซลล์เม็ดเลือดขาวแต่ละชนิดต่อการดำรงชีวิตของสัตว์เลื้อยคลานที่อาศัยในระบบนิเวศต่าง ๆ
การประเมินชีววิทยาการสืบพันธุ์จากสัณฐานวิทยาของอวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ แสดงให้เห็นว่าจิ้งเหลนเพศผู้ มีการเจริญของอวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ค่อนข้างคงที่ตลอดทั้งปี โดยพบอัณฑะที่สมบูรณ์ทั้งในช่วงก่อนฤดูสืบพันธุ์ (เมษายน) และในช่วงฤดูสืบพันธุ์ (สิงหาคม) ส่วนจิ้งเหลนเพศเมียจะมีการเจริญของอวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ที่สัมพันธ์กับฤดูสืบพันธุ์ โดยจะพบรังไข่ที่ยังเจริญไม่เต็มที่ในช่วงก่อนเข้าฤดูสืบพันธุ์ (เมษายน) และพบรังไข่ที่เจริญเต็มที่ในช่วงฤดูสืบพันธุ์ (สิงหาคม) ทั้งนี้จำเป็นต้องมีการตรวจสอบลักษณะทางจุลกายวิภาคต่อไป