Abstract:
ระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้น (man-made ecosystem) เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อ ทดแทนพื้นที่ป่าธรรมชาติที่สูญเสียไปอีกทั้งมีบทบาทเป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้นมีหลากหลายรูปแบบตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อสังคมสัตว์ขาปล้องหน้าดินที่อาศัยและหากินในชั้นซากพืช การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความหลากหลายของสัตว์ขาปล้องหน้าดินในชั้นซากพืชบริเวณระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้น (ป่านิเวศและไบโอโทปป่าดิบ) จังหวัดฉะเชิงเทรา ศึกษาโดยเก็บตัวอย่างสัตว์ขาปล้องหน้าดินจากชั้นซากพืชในช่วงฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม สิงหาคม และ ตุลาคม พ.ศ. 2562) แล้วนำไปจำแนกอันดับและจัดกลุ่มตามหน้าที่ทางนิเวศวิทยา (functional group) ทำการเปรียบเทียบความหนาแน่นและความหลากหลายในสองระบบนิเวศ ผลการศึกษาพบว่าความหนาแน่นของสัตว์ขาปล้องหน้าดินมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับปริมาณซากพืชและความสูงของชั้นซากพืช แต่แปรผกผันกับอุณหภูมิในชั้นซากพืช ส่งผลให้ความหนาแน่นของสัตว์ขาปล้องหน้าดินลดลงในช่วงปลายฤดูฝนที่มีปริมาณซากพืชและความสูงชั้นซากพืชที่ลดลง ความหนาแน่นของสัตว์ขาปล้องหน้าดินในระบบนิเวศไบโอโทปป่าดิบมากกว่าในป่านิเวศ เนื่องจากมีปริมาณและความสูงของซากพืชมากกว่า ในทางตรงข้ามดัชนีความหลากหลาย (Shannon-Wiener index, H’) ในป่านิเวศมีค่ามากกว่าในไบโอโทปป่าดิบ อาจเนื่องมาจากสังคมพืชในป่านิเวศประกอบด้วยพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ทำให้มีสภาพใกล้เคียงป่าในธรรมชาติและมีความหลากชนิดของพืชมากกว่า จำนวนอันดับที่พบทั้งหมดในป่านิเวศและโอโทปป่าดิบไม่แตกต่างกัน (14 และ 17 อันดับ) โดยทั้งสองระบบนิเวศพบจำนวนสัตว์ขาปล้องในอันดับ Acari และ Collembola มากที่สุด และพบกลุ่มผู้ย่อยสลาย (Detritivore) มากที่สุด จึงสรุปได้ว่าระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้นที่มีโครงสร้างสังคมพืชที่แตกต่างกันจะส่งผลให้องค์ประกอบของสังคมสัตว์ขาปล้องหน้าดินที่พบในชั้นซากพืชแตกต่างกัน ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการออกแบบและ จัดการอย่างเหมาะสมเพื่อให้ระบบนิเวศสามารถตั้งตัวและดำเนินกระบวนการทางนิเวศวิทยาได้ใกล้เคียงกับระบบนิเวศธรรมชาติ อีกทั้งสามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ขาปล้องหน้าดินได้อย่างยั่งยืน