Abstract:
การติดตั้งระบบตรวจวัดแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นอีกทั้งยังเป็นระบบตรวจวัดอัตโนมัติส่งผลให้การตรวจวัดแผ่นดินไหวนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดลดลง อาจเป็นเพราะสาเหตุนี้ที่ทำให้พบการกระจายตัวของแผ่นดินไหวในบริเวณที่ปกติจะไม่เกิด เช่น บริเวณภาคอีสานหรืออ่าวไทย ทำให้เกิดข้อสงสัยและเกิดการศึกษาเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้จากระบบใหม่ ซึ่งเป็นข้อมูลแผ่นดินไหวที่มีความคล้ายสัญญาณรบกวน เพื่อตรวจสอบว่าการกระจายตัวของข้อมูลเหล่านี้เป็นแผ่นดินไหวจริง แผ่นดินไหวที่เกิดจากมนุษย์ หรือเป็นเพียงแค่สัญญาณรบกวนนั้น จึงได้ทำการตรวจสอบด้วยวิธีการทางสถิติโดยใช้ความสัมพันธ์ของ Gutenberg – Richter เพื่อศึกษาลักษณะของข้อมูลและมาเปรียบเทียบกับข้อมูลอ้างอิงที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นข้อมูลแผ่นดินไหวจริงจากฐานข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ว่ามีความสอดคล้องกันและมีลักษณะเป็นแผ่นดินไหวเหมือนกันหรือไม่ โดยศึกษาตัวแปรชนิดต่าง ๆ เช่น ขนาดของเหตุการณ์ ความลึก และช่วงเวลา เป็นต้น อีกทั้งยังตรวจสอบว่า การติดตั้งระบบตรวจวัดแผ่นดินไหวใหม่นั้น มีข้อจำกัดในการตรวจวัดลดลงไปเท่าใด เมื่อเทียบกับระบบตรวจวัดเก่า จากการศึกษาพบว่าลักษณะของข้อมูลในแต่ละตัวแปรที่ศึกษาไม่มีความสัมพันธ์กัน อีกทั้งไม่มีความสอดคล้องกันกับความสัมพันธ์ของ Gutenberg – Richter และเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลแผ่นดินไหวที่มีการปนเปื้อนข้อมูลแผ่นดินไหวที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์จากฐานข้อมูลประเทศสวิสเซอร์แลนด์แล้ว พบว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่มีความสอดคล้องกัน จึงสรุปได้ว่า การกระจายตัวที่เกิดขึ้นดังกล่าว เป็นเพียงแค่สัญญาณรบกวนเท่านั้น และหลังจากเปรียบเทียบข้อจำกัดของการตรวจวัดกับระบบก่อนที่จะมีการติดตั้งใหม่ พบว่าค่า Magnitude of Completeness จากเดิม 2.3 ลดลงไปเหลือ 2.1