Abstract:
แม่น้ำชีเป็นแม่น้ำสำคัญที่ไหลผ่านตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เนื่องจากลักษณะทางภูมิประเทศท้าให้พื้นที่รอบๆ แม่น้ำชีมักเกิดปัญหาอุทกภัยในช่วงฝนตกชุกต่อเนื่องสลับกับปัญหาภัยแล้งในช่วงฤดูหนาวเป็นประจำทุกปี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาแหล่งรับน้ำเพื่อการกักเก็บน้ำเพิ่มเติม ซึ่งจากการมีทะเลสาบรูปแอก (Oxbow lake) และร่องรอยทางน้ำเก่า (Meander scar) จำนวนมากตลอดความยาวของแม่น้ำชี ซึ่งเป็นบริเวณที่ราบลุ่มต่ำและเคยมีทางน้ำไหลผ่าน จึงเหมาะแก่การศึกษาถึงศักยภาพในการเป็นพื้นที่รับน้ำและกักเก็บน้ำตามธรรมชาติของธรณีสัณฐานเหล่านี้ โดยพื้นที่ศึกษาคือบริเวณ 2 ฝั่งของแม่น้ำชี ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอค้อวังจังหวัดยโสธร อำเภอเขื่องในจังหวัดอุบลราชธานี และอำเภอกันทรารมย์จังหวัดศรีสะเกษ จากการแปลความภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายดาวเทียม ทำให้สามารถจำแนกลักษณะธรณีสัณฐานในพื้นที่ได้เป็น 6 หน่วย คือ ที่ราบน้ำท่วมถึง (Flood Plain) สันดอนทรายเก่าและปัจจุบัน (Former and present point bar) แม่น้ำชี (Chi river) ธารน้ำ (Stream) ทะเลสาบรูปแอก (Oxbow lake) และร่องรอยทางน้ำเก่า (Meander Scar) โดยพบลักษณะธรณีสัณฐานชนิดทะเลสาบรูปแอกทั้งหมด 19 แห่ง และร่องรอยทางน้ำเก่าทั้งหมด 76 แห่ง จากการศึกษาและการวิเคราะห์ข้อมูลแบบลำดับชั้น (Analytic hierarchy process: AHP) โดยใช้เกณฑ์หลัก 6 เกณฑ์ คือ ความสามารถในการกักเก็บน้ำ การใช้ประโยชน์ที่ดิน ความลาดชันของพื้นผิว ตำแหน่งในแนวกันชนของแม่น้ำ ความถี่น้ำท่วมขังซ้ำซาก และตำแหน่งในแนวกันชนของพื้นที่เมืองและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้สามารถแบ่งพื้นที่ศักยภาพสำหรับการรับน้ำและกักเก็บน้ำออกเป็น 3 ระดับ คือ พื้นที่ศักยภาพระดับต่ำ พื้นที่ศักยภาพระดับปานกลาง และพื้นที่ศักยภาพระดับสูง ซึ่งทะเลสาบรูปแอกที่อยู่บนพื้นที่ศักยภาพระดับต่ำมี 2 แห่ง อยู่บนพื้นที่ศักยภาพระดับปานกลางมี 15 แห่ง และอยู่บนพื้นที่ศักยภาพระดับสูงมี 2 แห่ง ในขณะที่ร่องรอยทางน้ำเก่าที่อยู่บนพื้นที่ศักยภาพระดับต่ำมี 1 แห่ง อยู่บนพื้นที่ศักยภาพระดับปานกลางมี 31 แห่ง และอยู่บนพื้นที่ศักยภาพระดับสูงมี 44 แห่ง