Abstract:
บริเวณพื้นที่ราบชายฝั่งตะวันออกของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการสะสมตัวของตะกอนชายฝั่งทะเลโดยอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลงเป็นบริเวณกว้างและพบแนวสันทรายชายฝั่งเก่าขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหลักฐานทางธรณีสัณฐานชายฝั่งที่สำคัญบ่งบอกสภาพแวดล้อมในอดีตได้ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหาค่าอายุของแนวสันทรายเก่าบริเวณที่ราบตะกอนชายฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยวิธีการหาอายุด้วยการเปล่งแสงเชิงแสง เพื่อนำมาศึกษาวิวัฒนาการของที่ราบสันทรายชายฝั่งในอดีต จากภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูงสามารถแบ่งพื้นที่ราบสันทรายโบราณออกได้เป็น 2 หน่วย ได้แก่ KK01-KK05 (5 ตัวอย่าง) และ CK (1 ตัวอย่าง) มีป่าพรุควนเคร็งเป็นที่ราบลุ่มน้ำขังอยู่ระหว่างทั้งสอง โดยแนวสันทราย KK เป็นสันทรายด้านใน มีทิศการวางตัวประมาณ 175 องศาจากทิศเหนือ มีระยะห่างระหว่างสันทรายประมาณ 900 เมตร และแนวสันทราย CK ทิศการวางตัวประมาณ 160 องศาจากทิศเหนือ มีระยะห่างระหว่างสันทรายประมาณ 500 เมตร ผลจากการศึกษาตะกอนในห้องปฏิบัติการพบว่าตะกอนสันทรายส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นทรายละเอียดถึงกรวด องค์ประกอบทางแร่ ประกอบด้วยแร่ควอตซ์ เป็นสัดส่วนมากกว่า 90 % มีแร่ไมกาและแร่หนักปะปนอยู่บ้างเล็กน้อย ตะกอนมีความกลมมนต่ำ มีความเป็นทรงกลมต่ำ และมีการคัดขนาดไม่ดีถึงดีแตกต่างไป จากผลการหาอายุด้วยวิธีเปล่งแสงเชิงแสง (OSL) และการศึกษาลำดับชั้นตะกอนพบว่าสันทราย KK05 มีอายุมากที่สุดคือประมาณ 76,200±4,680 ปี ก่อนปัจจุบัน ตามด้วย KK04 อายุ 66,780±4,050 ปีและ สันทราย KK01 อายุ 47,720±1,800 ปี เกิดในช่วงที่ระดับน้ำทะเลลดลง (regression) จากระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุดในสมัยไพลสโตซีน และสันทราย CK อายุ 4,390±190 ปีที่ผ่านมา เกิดในช่วงที่ระดับน้ำทะเลลดลง (regression) จากระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุดในสมัยโฮโลซีน โดยมีกระแสน้ำชายฝั่งพัดพาตะกอนในทิศเหนือ-ใต้