Abstract:
จังหวัดเพชรบุรี เป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงทางด้านแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ทำให้มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาเล่นน้ำในจังหวัด แต่ถึงกระนั้นจังหวัดเพชรบุรีก็พบข่าวเหตุการณ์ที่นักท่องเที่ยวได้รับอุบัติเหตุจากการลงเล่นน้ำทะเลเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่หาดปึกเตียนและหาดเจ้าสำราญ โดยข่าว มักจะระบุสาเหตุของอุบัติเหตุนั้นว่าเกิดขึ้นจาก การเล่นน้ำของนักท่องเที่ยวในบริเวณที่มีกระแสคลื่นที่รุนแรงคาดว่าบริเวณนั้นอาจเกิดกระแสน้ำป่วน (Rip Current) งานวิจัยในครั้งนี้ จึงมุ่งเน้นการศึกษาไปที่การค้นหาสาเหตุของการเกิดกระแสน้ำป่วน บริเวณหาดเจ้าสำราญถึงหาดปึกเตียน จังหวัดเพชรบุรี อีกทั้งยังคาดการณ์ระดับความรุนแรงของกระแสน้ำป่วนในบริเวณดังกล่าวเพื่อให้ผู้ที่ลงเล่นน้ำได้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ผลการศึกษา สามารถแบ่งพื้นที่ศึกษาออกเป็น 12 จุดศึกษา โดยแต่ละจุดศึกษาจะมีระยะห่างที่เท่ากัน พบว่าในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้นั้น ระดับความรุนแรงของกระแสน้ำป่วนอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยทั้ง 12 จุดศึกษา ทว่าในช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ กลับพบพื้นที่ระดับความรุนแรงอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยเพียง 5 จุดศึกษา พื้นที่ที่อยู่ในระดับปลอดภัยน้อย 5 จุดศึกษา และพื้นที่ที่อยู่ในเกณฑ์อันตราย 2 จุดศึกษา จาก 12 จุดศึกษา โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดกระแสน้ำป่วนในพื้นที่ศึกษานั้นประกอบไปด้วย ความแตกต่างของลักษณะทางธรณีสัณฐาน, ฤดูมรสุม, ความสูงของคลื่น ณ ขณะนั้น, ระดับน้ำ ณ ขณะนั้น และสิ่งปลูกสร้างนอกชายฝั่ง โดยหาดที่มีความลาดชันสูง มีโอกาสทำให้ระดับความรุนแรงของกระแสน้ำป่วนเพิ่มมากขึ้น ในช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือระดับความรุนแรงของกระแสน้ำป่วนนั้น รุนแรงกว่าช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มากกว่านั้นความสูงของคลื่น และ ระดับน้ำ หากอยู่ ณ ช่วงเวลาที่น้ำขึ้นสูงสุด ก็จะมีระดับความรุนแรงของกระแสน้ำป่วนที่มากตาม และสิ่งปลูกสร้างนอกชายฝั่งนั้น เป็นสาเหตุร่วมที่ทำให้ลักษณะทางธรณีสัณฐาน เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จนระดับความรุนแรงของกระแสน้ำป่วนในพื้นที่อยู่ในเกณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อผู้ลงเล่นน้ำ