Abstract:
บรรจุภัณฑ์จากกระดาษเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เนื่องจากกระแสรักษ์โลกกำลังเป็นที่นิยม ทำให้ความต้องการกระดาษมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จึงเกิดการหาพืชทางเลือกที่เหมาะสมกับการผลิตกระดาษ ใบสับปะรดก็เป็นพืชทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะเส้นใยมีความเหนียวและมีคุณสมบัติที่สามารถนำมาผลิตเป็นเยื่อกระดาษได้ โครงการนี้จึงสนใจศึกษาภาวะที่เหมาะสมในการผลิตเยื่อจากใบสับปะรดโดยใช้ความเข้มข้นของ NaOH ในการผลิตเยื่อที่แตกต่างกัน และศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเยื่อจากใบสับปะรดให้เป็นบรรจุภัณฑ์กระดาษ ในงานวิจัยนี้ได้ทดลองใช้ NaOH ที่มีความเข้มข้นแตกต่างกัน 3 ระดับ คือร้อยละ 18, 19 และ 20 ของน้ำหนักเยื่อแห้ง ในการต้มเยื่อใบสับปะรดที่ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 ชั่วโมง แล้วนำไปคัดขนาดด้วยตะแกรงขนาด 16 เมชและ 200 เมช พบว่า การใช้ NaOH ที่ร้อยละ 18 ของน้ำหนักเยื่อแห้ง ให้ผลผลิต (%yield) ของเยื่อที่อยู่บนตะแกรง 200 เมชมากที่สุด จากนั้นนำเส้นใยที่ได้จากการต้มเยื่อทั้งหมดไปทำการวิเคราะห์เส้นใยพบว่าค่าเฉลี่ยเลขคณิตของความยาวเส้นใยใบสับปะรดที่อยู่ระหว่างตะแกรง 16 เมชและตะแกรง 200 เมซ (accepts) มีแนวโน้มลดลงตามความเข้มข้นของ NaOH ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ค่าเฉลี่ยเลขคณิตของความยาวเส้นใยใบสับปะรดที่มีขนาดใหญ่กว่าตะแกรง 16 แมช (rejects) เพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของ NaOH ปริมาณเส้นใยขนาดเล็กที่อยู่ระหว่างตะแกรง 16 เมช และ 200 เมช จะเพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของ NaOH และปริมาณเส้นใยขนาดเล็กที่มีขนาดใหญ่กว่าตะแกรง 16 เมช จะลดลงตามความเข้มข้นของ NaOH ในส่วนของดัชนีความโค้งงอและดัชนีความหักงอของเยื่อใบสับปะรดจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของ NaOH ส่วนเยื่อที่ขนาดใหญ่กว่าตะแกรง 16 เมช ดัชนีความหักงอและดัชนีความโค้งงอมีแนวโน้มลดลงตามปริมาณ NaOH ในส่วนของจำนวนกระจุกเส้นใย พบว่าเยื่อใบสับปะรดที่อยู่ระหว่างตะแกรง 16 เมชและ 200 เมช เมื่อต้มด้วย NaOH เข้มข้นร้อยละ 19 โดยน้ำหนักเยื่อแห้ง จะมีจำนวนกระจุกเส้นใยมากที่สุด ส่วนเยื่อที่ขนาดใหญ่กว่าตะแกรง 16 เมชจะมีจำนวนกระจุกเส้นใยลดลงตามความเข้มข้นของ NaOH และในส่วนของความกว้างของเส้นใย พบว่าความกว้างของเส้นใยที่อยู่ระหว่างตะแกรง 16 เมชและ 200 เมช มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของ NaOH แต่ความกว้างของเส้นใยที่ขนาดใหญ่กว่าตะแกรง 16 เมช จะมีแนวโน้มลดลงตามความเข้มข้นของ NaOH ที่เพิ่มขึ้น