Abstract:
การท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาคือการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่บูรณาการด้านการท่องเที่ยวและการศึกษาสภาพธรณีวิทยาและลักษณะทางภูมิลักษณ์ของสถานที่ท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน ซึ่งในปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยายังไม่เป็นที่นิยมของประชาชนชาวไทยมากนัก สาเหตุหนึ่งมาจากการขาดการพัฒนาและประชาสัมพันธ์อย่างเหมาะสม ทำให้องค์ความรู้ทางธรณีวิทยาของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ถูกละเลยและมองข้ามอย่างน่าเสียดาย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพที่พัฒนาเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาหลายแห่ง แต่แหล่งท่องเที่ยวบางแห่งอยู่ในจังหวัดที่ไม่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมากนัก รวมไปถึงจังหวัดศรีสะเกษด้วย งานวิจัยชิ้นนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินศักยภาพและเสนอแนวทางพัฒนาแหล่งธรณีวิทยาที่โดดเด่นในจังหวัดศรีสะเกษ และจัดทำแผนที่เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา และข้อมูลเชิงธรณีวิทยาเบื้องต้นของแหล่งธรณีวิทยาที่คาดว่าจะมีศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาของจังหวัดศรีสะเกษ จากการศึกษาแหล่งท่องเที่ยวธรณีวิทยาที่คาดว่าจะมีศักยภาพ 9 แห่งของจังหวัดศรีสะเกษในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอภูสิงห์ อำเภอขุนหาญ และอำเภอกันทรลักษ์ ซึ่งทั้ง 3 อำเภอข้างต้น มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาที่อยู่ในแนวเทือกเขาพนมดงรักและมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีลักษณะทางธรณีสัณฐานที่โดดเด่นมากมาย ซึ่งผลจากการประเมินศักยภาพแหล่งธรณีวิทยาโดยใช้วิธีการวิเคราะห์แบบให้คะแนน และการวิเคราะห์สวอต พบว่ามีแหล่งท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีศักยภาพที่จะพัฒนาและส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาทั้งหมด 5 แหล่ง ได้แก่ ผามออีแดง อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร และน้ำตกวังใหญ่ อำเภอกันทรลักษ์ ทุ่งกบาลกระไบ น้ำตกห้วยจันทร์ และแหล่งปลูกทุเรียนภูเขาไฟ ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ แต่สำหรับน้ำตกสำโรงเกียรติและวัดพระบาทภูฝ้าย อำเภอขุนหาญ น้ำตกห้วยสวายและจุดชมวิวพญากูปรี อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ พบว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา อันเนื่องมาจากการที่ไม่มีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวและบางแห่งไม่พบลักษณะทางธรณีที่เด่นชัด เช่น น้ำตกห้วยสวาย