Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้ซีโอไลต์เพื่อเป็นตัวเติมในการผลิตกระดาษเพื่อดูดซับเอทิลีนจากผลไม้ โดยมีการใส่สารเพิ่มการกักเก็บ (retention aid) จำพวกพอลิอะคริลาไมด์ ในขั้นแรกได้ทำการหา ปริมาณ Cationic Polyacrylamide (CPAM) ที่เหมาะสม โดยเตรียมน้ำเยื่อจากเยื่อทางการค้าชนิดใยสั้นและใยยาว ในอัตราส่วน 70:30 (โดยน้ำหนัก) เติมซีโอไลต์ชนิด 4A ร้อยละ 30 ของน้ำหนักเยื่อแห้ง และ Cationic Polyacrylamide (CPAM) ที่ปริมาณต่าง ๆ ได้แก่ ร้อยละ 0, 0.3, 0.6, 0.9 และ 1.2 จากนั้นขึ้นรูปเป็นแผ่นกระดาษ และศึกษาสมบัติของกระดาษที่ผลิตได้ พบว่ากระดาษที่มีปริมาณ Cationic Polyacrylamide CPAM) ร้อยละ 0.3 เหมาะสมมากที่สุดในการผลิตกระดาษที่มีซีโอไลต์ชนิด 4A เนื่องจากสามารถกักเก็บซีโอไลต์ในกระดาษมากที่สุด การศึกษาสมบัติของกระดาษทีมีซีโอไลต์ชนิด 4A ร้อยละ 30 ของน้ำหนักเยื่อแห้ง และ Cationic Polyacrylamide (CPAM) ร้อยละ 0.3 เปรียบเทียบกับกระดาษที่ไม่ใส่ Polyacrylamide (CPAM) โดยศึกษา สมบัติทางกายภาพ ได้แก่ น้ำหนักมาตรฐาน (Basis Weight) ความหนา (Thickness) ความขาว (Whiteness)ความเรียบ (Smoothness) ความต้านทานการไหลของอากาศ (Air Resistance) ความต้านทานต่อแรงดึง (Tensile Strength) ความต้านทานต่อแรงฉีกขาด (Tear Resistance) และปริมาณเถ้า (Ash Content) พบว่า กระดาษมีคุณสมบัติดีขึ้นในเรื่องของความขาวและความเรียบ แต่คุณสมบัติด้านความต้านทานต่อแรงดึง และ ความต้านทานต่อแรงฉีกลดลง จากการศึกษาโครงสร้างของซีโอไลต์ พบว่ามีโครงสร้างเป็นผลึก ที่เกิดจากการเชื่อมต่อกันของหน่วยทรงสี่หน้าของซิลิเกตและอะลูมิเนต จากการก่อตัวที่เป็นระเบียบดังกล่าว ทำให้ภายในโครงสร้างของซีโอไลต์มีรูพรุนขนาดใหญ่เพียงพอที่จะเกิดกระบวนการดูดซับโมเลกุลสารอินทรีย์จากขนาดเล็กจนถึงขนาด 1 นาโนเมตร ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ซีโอไลต์สามารถดูดซับก๊าซเอทิลีนได้ จึงเลือกใช้ซีโอไลต์ ในการยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้