Abstract:
แตนเบียนใน Superfamily Ichneumonoidea จัดอยู่ในอันดับ Hymenoptera มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงทั้งลักษณะทางสัณฐานภายนอก และการดำรงชีวิต จัดเป็นกลุ่มที่มีความหลากชนิดสูงสุดใน Parasitica อย่างไรก็ดีข้อมูลความหลากหลายทางชนิดยังมีอยู่น้อยมากทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อน รวมถึงประเทศไทย Ichneumonoidea แบ่งเป็น 2 วงศ์ใหญ่ คือ Ichneumonidae และ Braconidae ทั้ง 2 วงศ์มีลักษณะทางสัณฐานภายนอกที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ลักษณะสำคัญที่เห็นได้ชัดคือเส้นปีกของปีกคู่หน้าที่แตกต่างกัน โดยใน Ichneumonidae ร้อยละ 95 มีเส้นปีก 2m-cu ในขณะที่ Braconidae มีเส้นปีก 1/Rs+M, r-m และ submarginal cell โดย Ichneumonidae จะมี submarginal cell บนปีกคู่หน้าเป็นรูปห้าเหลี่ยม ส่วน Braconidae จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู การศึกษาความหลากชนิดของแมลงสามารถทำได้หลายวิธี หนึ่งในวิธีการที่ได้รับความนิยมมากวิธีหนึ่งคือการใช้กับดักเต็นท์ (Malaise trap) กับดักนี้เหมาะสำหรับศึกษาความหลากชนิดของแมลงบินได้ที่ออกหากินในเวลากลางวัน งานวิจัยนี้ศึกษาเปรียบเทียบความหลากชนิดของแตนเบียนวงศ์ Ichneumonidae และ Braconidae บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยทำการเก็บตัวอย่างแมลงจากกับดักทุก 2 สัปดาห์ นำตัวอย่างแมลงที่เก็บได้มาคัดแยกเฉพาะแตนเบียนวงศ์ Ichneumonidae และ Braconidaeออกจากแมลงชนิดอื่นภายใต้กล้องจุลทรรศน์แบบสเตอริโอ จัดทำฐานข้อมูลและให้เลข voucher ตามหลักของพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับตัวอย่างแตนเบียนทุกตัว จากผลการศึกษาและเปรียบเทียบความหลากชนิดของแตนเบียนวงศ์ Ichneumonidae และ Braconidae บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พบแตนเบียนวงศ์ Ichneumonidae 461 ตัว 132 morphospecies และ Braconidae 114 ตัว 37 morphospecies สามารถสรุปได้ว่าแตนเบียนวงศ์ Ichneumonidae มีจำนวนชนิดและจำนวนตัวมากกว่าวงศ์ Braconidae