Abstract:
สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลานมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศน์และมีพฤติกรรมการเลือกแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีความจำเพาะแตกต่างกัน ประเทศไทยตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะพื้นที่ที่มีความจำเพาะและหลากหลาย การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหลากชนิดและการใช้พื้นที่ของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลาน โดยการสำรวจความหลากชนิดในครั้งนี้ใช้วิธีแบบพบเห็นตัว (visual encounter survey) และ และตรวจสอบชนิดโดยใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยา ระหว่างเดือนกันยายน 2562 – กุมภาพันธ์ 2563 พบจำนวนชนิดของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกทั้งหมด 3 อันดับ 12 วงศ์ 20 สกุล 19 ชนิด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหมด 1 อันดับ 7 วงศ์ 10 สกุล 10 ชนิด ในถิ่นที่อยู่อาศัยย่อย 5 ลักษณะ โดยมีค่าดัชนีย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Shannon-Weiner Index) ของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลาน เท่ากับ 2.354 และ 1.688 ตามลำดับ ซึ่งมีสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่คาดว่าน่าจะต้องมีการทบทวนอนุกรมวิธานใหม่ คือ อึ่งหลังขีด (Micryletta inornata) อึ่งแม่หนาว (Microhyla berdmorei) และจิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ (Sphenomorphus maculatus) นอกจากนี้เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พื้นที่อยู่อาศัยย่อยด้วยสถิติไคสแควร์ พบว่าพื้นที่อยู่อาศัยย่อยมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเลือกใช้พื้นที่ของสัตว์ทั้งสองกลุ่ม กล่าวได้ว่าสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลานต่างชนิดกันจะมีพฤติกรรมการเลือกที่อยู่อาศัยย่อยต่างกัน ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่นำไปประยุกต์ใช้ในแนวทางเพื่อการจัดการพื้นที่และอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลานในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ และอาจขยายแนวทางการอนุรักษณ์ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยที่มีลักษณะใกล้เคียงกับเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ห้วยฮ่องไคร้ต่อไป