Abstract:
ในปัจจุบันเครื่องวิเคราะห์อนุภาคสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในตัวอย่างของเหลว (FlowCAM) ถูกนำมาใช้นับจำนวนและจำแนกแพลงก์ตอนพืชโดยอัตโนมัติมากถึง 500 แห่งทั่วโลก แต่ในประเทศไทยยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากขาดฐานข้อมูลที่เหมาะสม การศึกษาครั้งนี้จึงต้องการพัฒนาฐานข้อมูลแพลงก์ตอนพืชในประเทศไทย สำหรับเครื่อง FlowCAM โดยการเก็บตัวอย่างแพลงก์ตอนพืชในบริเวณเกาะสีชังจำนวน 24 สถานี ด้วยการสูบน้ำที่ระดับ 0.5 เมตรจากผิวน้ำ 20 ลิตรมากรองผ่านถุงกรองแพลงก์ตอนขนาดตา 200 ไมโครเมตร และ 20 ไมโครเมตร ตามลำดับ จากนั้นนำตัวอย่างที่ค้างบนถุงกรองแพลงก์ตอน 20 ไมโครเมตร มาผ่านเครื่อง FlowCAM เพื่อสร้างห้องสมุดภาพ (library) โดยอาศัยโปรแกรม VisualSpreadsheet® (ViSp) ห้องสมุดภาพที่ถูกสร้างขึ้นจะเป็นฐานข้อมูลภายในเครื่องเพื่อใช้ในการจำแนกและนับจำนวนแพลงก์ตอนพืชจาก 6 สถานี เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของ FlowCAM เทียบกับวิธีมาตรฐานที่นับและจำแนกแพลงก์ตอนพืชด้วย Sedgewick Rafter slide ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ผลการศึกษาได้ภาพของแพลงก์ตอนพืชเพื่อจัดทำห้องสมุดภาพจำนวน 39 สกุล 7 ชนิด ประสิทธิภาพในการจำแนกสกุลของแพลงก์ตอนพืชด้วย FlowCAM ต่ำกว่าวิธีมาตรฐานโดยจำแนกสกุลและชนิดของแพลงก์ตอนพืชที่จำแนกได้เพียงร้อยละ 54 ถึง 68 ของวิธีมาตรฐาน การหาความหนาแนของแพลงก์ตอนพืชด้วย FlowDAM ได้ค่าสูงกว่าวิธีมาตรฐานคิดเป็น 39 ถึง 130 เท่า ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (paired t-test, p<0.05) ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นของ FlowCAM อาจเกิดจากข้อจำกัดของเครื่องที่ยังมีฐานข้อมูลแพลงก์ตอนพืชน้อย คุณภาพของ Flow cell และภาพในห้องสมุดภาพไม่ดีเท่าที่ควร จึงควรมีการสะสมห้องสมุดภาพเพิ่มขึ้น เปลี่ยน flow cell ใหม่ ปรับอัตราการไหล (flow rate) ให้ช้าลง และเพิ่มอัตราการแสดงภาพเคลื่อนไหวต่อวินาที (frame rate) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของ FlowCAM