Abstract:
ต้นจามจุรี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Samanea saman เป็นต้นไม้ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีการปลูกอยู่มากภายในมหาวิทยาลัย และมีบางต้นที่ถือเป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น ต้นจามจุรีทรงปลูก แต่ในปัจจุบันต้นจามจุรีนั้นเริ่มมีจำนวนลง เนื่องจากต้นจามจุรีอายุค่อนข้างมาก และถูกศัตรูพืชทำลาย ไรศัตรูพืชเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้นจามจุรีอ่อนแอ นอกจากจะดูดทำลายทำให้พืชได้รับความเสียหายโดยตรงแล้ว ยังอาจเป็นพาหะนำโรคต่าง ๆ ของพืช ด้วย การศึกษาความหลากหลายและการแพร่กระจายของไรบนต้นจามจุรีภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และอาจนำไปจัดทำเป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับไรที่พบบนต้นจามจุรี รวมถึงเป็นแนวทางในการหาวิธีการควบคุมไรศัตรูพืชที่เหมาะสม และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมได้ โดยการศึกษาครั้งนี้เก็บตัวอย่างไรจากต้นจามจุรี 4 ต้น ได้แก่ ต้นจามจุรีทรงปลูกจำนวน 2 ต้น ต้นจามจุรีที่บริเวณหน้าอาคารศิลปวัฒนธรรมจำนวน 1 ต้น และต้นจามจุรีที่บริเวณหน้าตึกภาคสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จำนวน 1 ต้น แต่ละต้นจะทำการเก็บตัวอย่างพืชส่วนต่าง ๆ ได้แก่ เปลือกไม้ที่ ลำต้น เปลือกไม้ที่กิ่งหลัก เปลือกไม้ที่กิ่งย่อย และใบ ผลการศึกษาพบว่าต้นจามจุรีที่ทำการศึกษามีไรอาศัยอยู่และสามารถพบไรได้ในทุกส่วนที่ทำการเก็บตัวอย่าง และพบว่าส่วนใบมีจำนวนตัวไรอาศัยอยู่มากที่สุด รองลงมาคือ เปลือกไม้ที่กิ่งย่อย เปลือกไม้ที่กิ่งหลัก เปลือกไม้ที่ลำต้น ตามลำดับ ทั้งนี้ไม่สามารถทำฏิบัติการต่อเพื่อที่จะระบุชนิดของไรและนับจำนวน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรวิด 19 ทำให้ไม่สามารถสรุปเกี่ยวกับการแพร่กระจายของไรบนต้นจามจุรีได้