Abstract:
ในปัจจุบันมีความต้องการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เพิ่มขึ้น และเพื่อทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่กำลังหมดไป เชื้อเพลิงชีวภาพจากชีวมวลเป็นหนึ่งในทางเลือกที่สามารถทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ หนึ่งในชีวมวลที่ได้รับความนิยมในการนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงเหลวคือชานอ้อยซึ่งพบได้มากในประเทศไทย จึงได้มีการศึกษาการแปรูปชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงเหลวด้วยไฮโดรเทอร์มัลลิควิแฟกชัน และเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากชานอ้อยจึงมีการศึกษาการใส่ตัวเร่งปฏิกิริยาร่วมด้วย งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาไฮโดรเทอร์มัลลิควิแฟกชันเชิงเร่งปฏิกิริยาของชานอ้อย ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษาในงานวิจัยนี้ได้แก่ ชนิดของถ่านชาร์ (ถ่านชาร์ชานอ้อยและถ่านชาร์กะลามะพร้าว) อุณหภูมิที่ใช้เผาชาร์ (600 และ 700 องศาเซลเซียส) และการใส่ตัวเร่งปฏิกิริยาฐานคาร์บอนร่วมกับแคลเซียมออกไซด์ สำหรับในช่วงแรกเป็นการศึกษาผลของการผสมชานอ้อยกับชาร์ชานอ้อยและชาร์กะลามะพร้าวที่เผาด้วยอุณหภูมิเดียวกันคือ 600 องศาเซลเซียส ด้วยอัตราส่วน 1:1 โดยน้ำหนัก พบว่าปริมาณของเชื้อเพลิงเหลวที่ได้จากชานอ้อยผสมกับชาร์ชานอ้อย มีปริมาณสูงกว่าเชื้อเพลิงเหลวที่ได้จากชานอ้อยผสมกับถ่านชาร์กะลามะพร้าว สำหรับการทดลองในช่วงที่สองเป็นการศึกษาผลของอุณหภูมิที่ใช้เผาชาร์ โดยเมื่อเปรียบเทียบที่การผสมชานอ้อยกับชาร์ชนิดเดียวกัน การเพิ่มอุณหภูมิในการเผาถ่านชาร์ ส่งผลให้ปริมาณเชื้อเพลิงเหลวชีวภาพลดลง และการทดลองในช่วงที่สามเป็นการศึกษาผลของการใส่ตัวเร่งปฏิกิริยาฐานคาร์บอนร่วมกับแคลเซียมออกไซด์ การใช้ตัวรองรับเป็นชาร์ที่อุณหภูมิเผาเดียวกัน พบว่าปริมาณของเชื้อเพลิงเหลวที่ได้จากชานอ้อยผสมกับตัวเร่งปฏิกิริยาแคลเซียมออกไซด์บนชาร์กะลามะพร้าว มีปริมาณสูงกว่าเชื้อเพลิงเหลวที่ได้จากชานอ้อยผสมกับตัวเร่งปฏิกิริยาแคลเซียมออกไซด์บนชาร์ชานอ้อย และแคลเซียมออกไซด์บนตัวรองรับชนิดเดียวกัน การผสมชานอ้อยกับชาร์ที่เผาที่อุณหภูมิสูงกว่า ส่งผลให้ปริมาณของเชื้อเพลิงเหลวลดลง