Abstract:
ระบบนิเวศป่าชายเลนมีความสำคัญในการรักษาเสถียรภาพชายฝั่ง แต่ในปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนชายฝั่งในประเทศไทยเกิดความเสื่อมโทรมเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์และการรบกวนตามธรรมชาติภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พืชในป่าชายเลนเจริญเติบโตในสภาพดินเลนอ่อนนุ่มที่มีการท่วมถึงของน้ำที่สม่ำเสมอและความเค็มสูง จึงมีการพัฒนาลักษณะพิเศษของรากส่วนเหนือดิน (pneumatophore) ที่พบในไม้สกุลแสม (Avicennia sp.) โดยมีบทบาทในการกักเก็บและแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนเพื่อให้พืชสามารถเจริญในสภาพที่ดินขาดออกซิเจนได้ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงลักษณะของรากส่วนเหนือดินของแสมขาวที่ตอบสนองต่อปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ต่างกันตามระยะห่างจากทะเล ณ ป่าชายเลนชายฝั่งบางปู จังหวัดสมุทรปราการ โดยวางแนวศึกษา (line transect) จำนวนสามแนวจากริมทะเลจนถึงสุดเขตด้านในแผ่นดิน เก็บข้อมูลความหนาแน่นและลักษณะทางสัณฐานวิทยาของรากส่วนเหนือดินของแสมขาวและปัจจัยสิ่งแวดล้อมตามแนวศึกษาในช่วงเริ่มฤดูมรสุมและฤดูมรสุม ผลการศึกษาพบว่า รากส่วนเหนือดินของแสมขาวมีความหนาแน่นระหว่าง 44-1,144 รากต่อตารางเมตร ซึ่งอยู่ในช่วงเดียวกับรายงานในป่าชายเลนธรรมชาติ ความหนาแน่นรากส่วนเหนือดินมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระยะห่างจากทะเลในช่วงเริ่มฤดูมรสุม โดยระยะห่างจากทะเลที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อระดับความสูงของพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นทำให้ระยะเวลาที่พื้นที่ถูกน้ำท่วมลดลง ซึ่งรากส่วนเหนือดินที่อยู่ในบริเวณริมทะเลที่ถูกน้ำท่วมนานกว่าจะมี ความสูง พื้นที่ผิว และปริมาตรมากกว่า นอกจากนี้ความหนาแน่นรากส่วนเหนือดินมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความหนาแน่นของต้นไม้ในแนวศึกษา และพบว่าลักษณะทางสัณฐานวิทยาของรากเหนือดินของแสมขาวมีค่าลดลงเมื่อความหนาแน่นของดินเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงลักษณะของรากส่วนเหนือดินที่ตอบสนอง ต่อปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของราก (root plasticity) ของแสมขาวที่มีบทบาทสำคัญทำให้รากสามารถคงทำหน้าที่ได้ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ผลการศึกษาครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนปลูกป่าชายเลนที่ช่วยรักษาเสถียรภาพระบบนิเวศชายฝั่งได้อย่างยั่งยืนภายใต้สภาวะ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก