Abstract:
การขาดข้อมูลทางพันธุกรรมของตะโขง Tomistoma schlegelii ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การระบุชนิดและขยายพันธุ์ รวมไปถึงการอนุรักษ์สัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลทางสัณฐานวิทยา กอปรกับแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นต่อการสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของประเทศ งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างข้อมูลทางพันธุกรรมของตะโขงที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย โดยอาศัยลำดับนิวคลีโอไทด์ของยีน cytochrome c oxidase subunit I (COI) จากไมโทคอนเดรีย และคัดเลือกช่วงลำดับนิวคลีโอไทด์ที่เหมาะสม ในการใช้เป็นรหัสพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอบาร์โค้ด เพื่อการระบุอัตลักษณ์ของสัตว์สายพันธุ์นี้ จากการเก็บตัวอย่างและสกัดดีเอ็นเอจากเลือดหลังการฟักของลูกตะโขง สำหรับใช้เป็นแม่พิมพ์ดีเอ็นเอในการทำปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส เพื่อเพิ่มปริมาณยีน COI ได้ลำดับนิวคลีโอไทด์ยีน COI ของตะโขงจำนวน 2 เส้น ความยาวเส้นละ 1,584 คู่เบส ซึ่งมีลำดับที่เหมือนกันตลอดทั้งสาย เมื่อทำการเปรียบเทียบลำดับนิวคลีโอไทด์ที่ได้กับลำดับในฐานข้อมูลของ NCBI พบว่า มีจำนวนตำแหน่งของนิวคลีโอไทด์ที่แตกต่างกันเพียง 2–3 ตำแหน่ง และมีค่าความเหมือนกันสูงถึง 99.87% การวิเคราะห์ความห่างทางพันธุกรรมระหว่างตะโขงและตัวแทนสัตว์เลื้อยคลานในอันดับ Crocodylia อีก 12 ชนิด ได้ค่าความห่างระหว่างชนิดเฉลี่ยอยู่ในช่วง 13.333–15.390% และ 13.707–15.834% เมื่อใช้ยีนตลอดทั้งสาย และช่วงต้นของยีนที่ความยาว 645 คู่เบส ในการคำนวณ ตามลำดับ ค่าที่แตกต่างกันนี้แสดงให้เห็นถึงความแปรผันของลำดับนิวคลีโอไทด์ที่สูงกว่าในบริเวณช่วงต้นของยีน และความเหมาะสมของยีน COI บริเวณนี้ในการใช้เป็นดีเอ็นเอบาร์โค้ด เมื่อทำการวิเคราะห์เพิ่มเติมระหว่างตะโขงและสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มจระเข้ชนิดอื่น ๆ ในฐานข้อมูลรวมทั้งหมด 45 สายพันธุ์ โดยใช้ยีนบริเวณเดียวกันพบว่า ความห่างทางพันธุกรรมภายในชนิดของตะโขงมีค่าต่ำเพียง 0.311% แต่มีค่าความห่างระหว่างชนิดเฉลี่ยที่สูงถึง 12.907–22.588% แสดงให้เห็นว่าลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณช่วงต้นของยีน COI ความยาว 645 คู่เบส ที่ถูกคัดเลือกนี้สามารถใช้เป็นดีเอ็นเอบาร์โค้ดในการระบุชนิดของตะโขงได้จริง การศึกษาครั้งนี้นอกจากจะเปิดเผยข้อมูลทางพันธุกรรมของตะโขงที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยเป็นครั้งแรกแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้ลำดับนิวคลีโอไทด์ความยาว 645 คู่เบส ของยีน COI เพื่อการระบุอัตลักษณ์ของสัตว์เลื้อยคลานที่ใกล้จะสูญพันธุ์ชนิดนี้ได้อีกด้วย