Abstract:
เห็ดนางนวลสีชมพู (Pleurotus djamor (Rumph. ex Fr.) Boedijn) เป็นเห็ดทางเศรษฐกิจที่สามารถนำมารับประทานได้ อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการและสรรพคุณทางยา อย่างไรก็ตาม การเจริญเติบโตของดอกและประสิทธิภาพในการให้ผลผลิตของเห็ดชนิดนี้ต่ำกว่า Pleurotus ชนิดอื่นมาก ยิ่งไปกว่านั้น เนื้อผิวในธรรมชาติยังมีสีฉูดฉาดจึงไม่เป็นที่นิยมในการรับประทาน ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้มุ่งเน้นที่จะปรับปรุงผลผลิตของเห็ด P. djamor ด้วยเทคนิคแบบ โมโน-โมโน ไฮบริไดเซชัน 13 โมโนคาริออนจากสายพันธุ์พ่อแม่ ได้แก่ สายพันธุ์ BK และ CM ถูกนำมาผสมแบบพบกันหมด สายพันธุ์ลูกผสมทั้งหมดที่ได้ถูกเพาะเลี้ยงเพื่อประเมินอัตราการเจริญเติบโตของเส้นใยบนอาหารวุ้นมันฝรั่ง (PDA) และในวัสดุเพาะขี้เลื่อย เปรียบเทียบกับสายพันธุ์พ่อแม่ ในการศึกษาครั้งนี้ได้สายพันธุ์ลูกผสมสองสายพันธุ์ ได้แก่ NS1 และ NS2 โดยสายพันธุ์ลูกผสม NS1 ให้อัตราการเจริญเติบโตของเส้นใยสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่บน PDA เท่ากับ 1.40±0.02 เซนติเมตรต่อวัน และบนวัสดุเพาะขี้เลื่อยเท่ากับ 1.07±0.04 เซนติเมตรต่อวัน ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสายพันธุ์พ่อแม่ ได้แก่ สายพันธุ์ BK และ CM ผลที่ได้จากการศึกษานี้บ่งชี้ว่าสายพันธุ์ NS1 ที่ได้จากการผสมพันธุ์ด้วยเทคนิคแบบไฮบริไดเซชัน อาจเป็นสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตเห็ด P. djamor ทางเศรษฐกิจต่อไป