Abstract:
โครงการนี้เป็นโครงการปีที่ 3 ของการศึกษาหาเอนโดไฟท์ที่เจริญอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของมันสำปะหลังที่เจริญอยู่ร่วมกับมันสำปะหลังจำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ 1) พันธุ์ห้วยบง 60 2) พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 และ 3) พันธุ์พิรุณ 1 รายงานครั้งนี้ได้นำเอนโดไฟท์แบคทีเรียที่แยกได้มาทำการศึกษาความสามารถในการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรคในมนุษย์และในพืช พบว่าเอนโดไฟท์แบคทีเรียที่แยกได้มาบางส่วนสามารถยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียที่ก่อโรคในมนุษย์และในพืชได้ โดยพบว่าเอนโดไฟท์แบคทีเรียส่วนใหญ่มีความสามารถในการยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคในพืชได้ดีกว่า จึงได้คัดเลือกเอนโดไฟท์แบคทีเรียไอโซเลท KUs6 มาเป็นต้นแบบในการศึกษาวิธีการสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และวิธีทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรคในพืช Xanthomonas axonopodis และราก่อโรคพืชจำนวน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ Colletotrichum gloeosporioides Fusarium moniliformis Fusarium proliferatum และ Fusarium solani ผลการทดลองพบว่า เอนโดไฟท์แบคทีเรียไอโซเลท KUs6 มีความสามารถในการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียและราก่อโรคพืชได้ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและในพืช ซึ่งวิธีการศึกษาดังกล่าวในโครงการนี้สามารถเป็นต้นแบบในการศึกษาเอนโดไฟท์แบคทีเรียที่มีความสามารถในการยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคในพืชได้ต่อไป นอกจากนี้ได้ศึกษาแบคทีเรียที่สมบัติในการสร้างเอนไซม์เซลลูเลสที่ช่วยในการย่อยสลายซากพืชจากดินที่ปลูกมันสำปะหลังทั้ง 3 สายพันธุ์ ในระยะเวลา 3, 6, 9 และ 12 เดือน พบแบคทีเรียที่มีสมบัติในการสร้างเอนไซม์เซลลูเลส จำนวน 86 ไอโซเลท และได้คัดเลือกไอโซเลทที่แยกได้จะถูกนำมาศึกษาสมบัติของเอนไซม์เซลลูเลสที่จำเพาะและประยุกต์ใช้ต่อไป ในรายงานนี้ได้คัดเลือกแบคทีเรีย 3 ไอโซเลท ได้แก่ PR1-P15 (6 เดือน), PR1-N9 (6 เดือน) และ HT-P9 (6 เดือน) มาทดสอบความสามารถในการย่อย filter paper และใบมันสำปะหลัง เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป