Abstract:
กำลังการผลิตขั้นต้น (primary productivity) ทางทะเล คือ อัตราการผลิตสารอินทรีย์ของแพลงก์ตอนพืชชนิดหนึ่ง ๆ ซึ่งมีความสำคัญมากในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเป็นองค์ประกอบขั้นต้นของสายใยอาหาร อีกทั้งยังเป็นตัวชี้วัดระดับความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำและแหล่งน้ำ การศึกษานี้ได้ทำการทดลองในห้องปฏิบัติการ เพื่อเปรียบเทียบกำลังการผลิตขั้นต้นของแพลงก์ตอนพืชต่างขนาดที่พบในบริเวณอ่าวไทย 2 ชนิด คือ Chattonella sp. (ความกว้างเฉลี่ย 23.181 ± 3.318 ไมโครเมตร และความยาวเฉลี่ย 30.346 ± 3.379 ไมโครเมตร) และ Isochrysis sp. (4.330 ± 0.771 ไมโครเมตร) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มนาโนแพลงก์ตอนและพิโคแพลงก์ตอนตามลำดับ (ลัดดา วงศ์รัตน์, 2539) โดยแบ่งการทดลองเป็น 2 ส่วน (ก) ในสภาวะเลี้ยงเดี่ยว เป็นระยะเวลา 20 วัน พบว่า นาโนแพลงก์ตอนมีการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วและมีกำลังการผลิตขั้นต้นอยู่ในช่วง 46.65 - 451.88 มิลลิกรัมคาร์บอน/ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าพิโคแพลงก์ตอน (0.48 - 333.56 มิลลิกรัมคาร์บอน/ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง) โดยผลการทดลองสอดคล้องกับปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ได้แก่ ความหนาแน่นของเซลล์ ปริมาณคลอโรฟิลล์เอ ปริมาณคาร์โบไฮเดรตละลายน้ำที่เพิ่มขึ้น และปริมาณสารอาหารที่ลดลง (ข) ในสภาวะแข่งขัน เป็นระยะเวลา 10 วัน และมีความจำกัดของสารอาหารที่ระดับความเข้มข้น 100% 75% 50% และ 1% ของสารอาหารสูตร T1 พบว่า กำลังการผลิตขั้นต้นรวมแปรผันตรงกับระดับความเข้มข้นของสารอาหาร และสอดคล้องกันกับปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังพบว่า (1) ในทุกสภาวะพิโคแพลงก์ตอนมีประสิทธิภาพของกำลังการผลิตขั้นต้นต่อหน่วยคลอโรฟิลล์เอมากกว่านาโนแพลงก์ตอน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อระดับความเข้มข้นของสารอาหารลดลง (2) ในสูตรอาหารเดียวกัน (100% ของสารอาหารสูตร T1) ซึ่งมีปริมาณสารอาหารมากเกินพอ พบว่า ในสภาวะแข่งขันมีกำลังการผลิตขั้นต้น ปริมาณคลอโรฟิลล์เอ และขนาดเซลล์ลดลง เมื่อเทียบกับในสภาวะเลี้ยงเดี่ยว