Abstract:
ไผ่เป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกร เนื่องจากไผ่เป็นพืชอเนกประสงค์ สามารถนำมาใช้งานได้ทุกส่วน แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าใบไผ่ส่วนมากถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นแค่เพียงปุ๋ยหมักและชาเท่านั้น ทั้งที่ใบไผ่มี แร่ธาตุ สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และสารต้านเชื้อจุลินทรีย์หลากหลายชนิด รวมถึงเป็นแหล่งของเซลลูโลสที่เป็นพอลิเมอร์ชีวภาพด้วย โครงการนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อหาปริมาณเซลลูโลสในใบไผ่ต่างพันธุ์ที่ปลูกในประเทศไทยและศึกษาความสามารถในการต้านเชื้อจุลินทรีย์เมื่อใบไผ่ถูกแปลงสภาพอยู่ในรูปของนาโนเซลลูโลส จากการศึกษาใบไผ่ 5 พันธุ์ พบว่า ใบไผ่ข้าวหลาม (กาบแดง) และใบไผ่ดำ (ชวา) มีปริมาณเซลลูโลสสูงกว่าอีกสามพันธุ์ ซึ่งมีปริมาณเท่ากับ 29.87% และ 26.53% ตามลำดับ ดังนั้นใบไผ่ทั้ง 2 พันธุ์จึงถูกนำมาผ่านกระบวนการทำเยื่อให้บริสุทธิ์และผลิตเป็นนาโนเซลลูโลส จากการวิเคราะห์ลักษณะทางสัณฐานวิทยา พบว่าหลังผ่านกระบวนการทำเยื่อให้บริสุทธิ์ เส้นใยของใบไผ่ข้าวหลาม (กาบแดง) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าและความยาวเส้นใยที่ยาวกว่าเส้นใยจากใบไผ่ดำ (ชวา) ซึ่งส่งผลให้เส้นผ่านศูนย์กลางของนาโนเซลลูโลสจากใบไผ่ข้าวหลาม (กาบแดง) มีขนาดใหญ่กว่าใบไผ่ดำ (ชวา) เช่นกัน จากการทดสอบความสามารถในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ของนาโนเซลลูโลสที่อยู่ในรูปสารแขวนลอยในน้า พบว่านาโนเซลลูโลสจากใบไผ่ข้าวหลาม (กาบแดง) สามารถต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก (Staphylococcus aureus) ได้เล็กน้อย แต่ไม่สามารถต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ (Escherichia coli) ได้ ในขณะที่นาโนเซลลูโลสจากใบไผ่ดำ (ชวา) ไม่สามารถต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกและลบ คาดว่าประสิทธิภาพการต้านเชื้อจุลินทรีย์อาจน้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากตรวจพบการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ชนิดอื่นในนาโนเซลลูโลสของใบไผ่ทั้ง 2 พันธุ์ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข้างต้นสามารถใช้เป็นแนวทางการศึกษานาโนเซลลูโลสจากใบไผ่ได้ต่อไปในอนาคต