Abstract:
การปรับปรุงวิธีการเตรียมตัวดูดซับมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดักจับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบฟลูอิไดซ์เบด การปรับปรุงวิธีการเตรียมตัวดูดซับในงานวิจัยนี้ทำได้โดยการเติมสารละลายเอมีนลงไปผสมกับตัวดูดซับในขั้นตอนการเตรียมเนื่องจากเอมีนอาจสามารถปรับสภาพพื้นผิวของตัวดูดซับได้ โดยจะศึกษาผลของเอมีน 2 ชนิด ได้แก่ เอทาโนลามีน (MEA) และ เมทิลไดเอทาโนลามีน (MDEA) ซึ่งแต่ละชนิดศึกษาทั้งหมด 2 ความเข้มข้น ได้แก่ 15% และ 35% โดยมวล นอกจากนี้ ยังศึกษาผลของอุณหภูมิของการอบตัวดูดซับที่ใช้ในขั้นตอนการเตรียม และผลของระยะเวลาที่ใช้ในการกวนสารที่มีต่อประสิทธิภาพในการดักจับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ สำหรับการศึกษาผลของอุณหภูมิที่ใช้ขั้นตอนการเตรียมแบ่งออกเป็น 2 อุณหภูมิได้แก่ การใช้อุณหภูมิในการรอบ 105 และ 145 องศาเซลเซียส และระยะเวลาที่ใช้ในการกวนสาร ได้แก่ 24 ชั่วโมง และ 5 ชั่วโมง กระบวนการดูดซับในระบบฟลูอิไดซ์เบดถูกทดลองภายใต้ภาวะการทดลองดังนี้ อุณหภูมิคอลัมน์ และอุณหภูมิไอน้ำ เท่ากับ 60 และ 100 องศาเซลเซียส ตามลำดับ ผลที่ได้จากการทดลองสามารถวิเคราะห์ได้จากระยะเวลาที่แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เดินทางไปถึงเซนเซอร์วัดความเข้มข้นของแก๊ส และประสิทธิภาพการดักจับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากรูปแบบความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ จากผลการทดลองพบว่าตัวดูดซับที่มีการปรับปรุงโดยใช้สารละลายเอมีนมีประสิทธิภาพการดักจับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าตัวดูดกว่าตัวดูดที่ไม่มีการเติมสารละลายเอมีน ตัวดูดซับที่มีประสิทธิภาพการดักจับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดคือตัวดูดซับที่มีการปรับปรุงโดยใช้เอมีนชนิดเมทิลไดเอทาโนลามีนความเข้มข้นร้อยละ 35 โดยมวล ใช้อุณหภูมิในการอบที่ 145 องศาเซลเซียส และระยะเวลาที่ใช้ในการกวนสาร 24 ชั่วโมง ซึ่งมีประสิทธิภาพการดักจับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 76.45 มิลลิกรัมของคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหนึ่งกรัมของตัวดูดซับ