Abstract:
หอยแมลงภู่ Perna viridis เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่ตามบริเวณชายฝั่งทะเลที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณตะกอนแขวนลอยที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการศึกษาการตอบสนองเชิงสรีระต่อปริมาณตะกอนแขวนลอยของหอยแมลงภู่ P. viridis ยังมีการศึกษาน้อย การศึกษานี้จึงมุ่งเน้นศึกษาผลของตะกอนแขวนลอยที่มีต่ออัตราการกรองกินของหอยแมลงภู่ หอยแมลงภู่ P. viridis อายุ 2 เดือนและอายุ 6 เดือนถูกทำการปรับสภาพก่อนเริ่มทำการทดลองในน้ำทะเลที่มีระดับความเค็มเท่ากับ 28 psu เป็นระยะเวลาอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ จากนั้นทำการวัดอัตราการกรองกินก่อนเริ่มทำการทดลองและทำการย้ายหอยแมลงภู่ไปยังภาชนะที่มีระดับความเข้มข้นของปริมาณตะกอนแขวนลอยที่ใช้ในการทดลองซึ่งประกอบด้วย 0 (ชุดควบคุม), 250 และ 500 มิลลิกรัมต่อลิตร หอยแมลงภู่จะถูกเลี้ยงอยู่ในตะกอนแขวนลอยที่ระดับความเข้มข้นต่าง ๆ เป็นเวลา 20 วัน และทำการวัดอัตราการกรองกินอีกครั้งในวันที่ 15 และหลังสิ้นสุดการทดลอง ผลการศึกษาพบว่าความเข้มข้นของตะกอนแขวนลอยส่งผลให้อัตราการกรองกินของหอยแมลงภู่ P. viridis เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอัตราการกรองกินจะลดลงตามการเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นของตะกอน โดยหอยแมลงภู่ที่ถูกเลี้ยงในตะกอนความเข้มข้น 250 และ 500 มิลลิกรัมต่อลิตร มีอัตราการกรองกินลดลงเมื่อเทียบกับชุดควบคุม ในขณะที่หอยแมลงภู่ชุดควบคุมอัตราการกรองกินไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในทั้ง 2 ช่วงอายุ จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงการตอบสนองทางสรีระในแง่ของอัตราการกรองกินของหอยแมลงภู่ P. viridis ต่อความเข้มข้นของตะกอนแขวนลอยซึ่งอาจส่งผลให้หอยแมลงภู่มีอัตราการเจริญเติบโตลดลงหากเผชิญกับภาวะที่มีปริมาณตะกอนแขวนลอยที่สูงในระยะยาว