Abstract:
สารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้มีการใช้อย่างแพร่หลายในการทำเกษตรกรรมเพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ซึ่งการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีผลต่อสิ่งมีชีวิตที่เป็นเป้าหมายและไม่ได้เป็นเป้าหมายของการกำจัด อีกทั้งยังมีการปนเปื้อนไปยังสิ่งแวดล้อม เป็นอันตรายต่อทั้งเกษตรกรผู้ใช้ และสิ่งมีชีวิตอื่นในบริเวณนั้น และยังกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่น ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งที่จะมีการเคลื่อนย้ายรังไปตามแหล่งอาหารในพื้นที่การเกษตร ถ้าหากมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะส่งผลต่อพฤติกรรมและสุขภาวะของผึ้งภายในรัง และยังสามารถปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์จากผึ้ง เช่น น้ำผึ้ง ไขผึ้ง และเกสรผึ้ง โดยเกสรผึ้งเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของผึ้งภายในรังและมีคุณสมบัติในการดูดซับสารเคมี การศึกษาครั้งนี้ได้ทำการตรวจสอบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในเกสรผึ้ง และศึกษาชนิดของพืชอาหาร โดยทำการศึกษาที่พสุธาราฟาร์ม & วิลเลจ จังหวัดราชบุรี ระหว่างเดือนตุลาคม 2562 – มีนาคม 2563 ในการตรวจสอบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทำการเตรียมตัวอย่างด้วยวิธี QuEChERS แล้วนำมาวิเคราะห์สารเคมีกำจัดศัตรูพืชด้วยระบบ LC/MS ผลการศึกษาในเบื้องต้น พบสารเคมี imidacloprid ที่เป็นสารเคมีกำจัดแมลง และการศึกษาชนิดของพืชอาหารที่มีสารเคมีตกค้างในเกสรผึ้ง ทำการเตรียมตัวอย่างด้วยวิธี Acetolysis แล้วทำการจำแนกและนับจำนวน พร้อมทั้งคำนวณความสัมพันธ์ของจำนวนกับปริมาตรของเกสรพืช โดยพืชวงศ์ Fabaceae สกุล Leucaena เป็นพืชอาหารหลัก คิดเป็นร้อยละ 65.99 ที่เป็นพืชอาหารหลักของผึ้งพันธุ์ที่ทำการเลี้ยงในพื้นที่แห่งนี้ โดยสารเคมีและพืชอาหารที่พบมาจากบริเวณข้างเคียงของพืชที่ศึกษา จากการหาอาหารของผึ้งที่บินหาอาหารได้ในระยะทางที่ไกล และพฤติกรรมการหาอาหารที่ผึ้งเป็น generalist และพฤติกรรม floral constancy ทำให้ครอบคลุมพื้นที่ศึกษาและบริเวณข้างเคียง ผลการศึกษาเบื้องต้นในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการพัฒนาวิธีทางเลือกในการวิเคราะห์ตรวจสอบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยใช้เกสรของผึ้งเป็นตัวชี้วัด