Abstract:
เขียดงูเกาะเต่า Ichthyophis kohtaoensis จัดเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่พบกระจายตัวทั่วประเทศไทย โดยอาศัยอยู่ในพื้นที่ชื้น รายงานการศึกษาโลหิตวิทยาในเขียดงูชนิดนี้ที่ผ่านมายังมีข้อมูลพื้นฐาน ไม่เพียงพอ ดังนั้นในงานวิจัยนี้จึงทำการศึกษาโลหิตวิทยาของ I. kohtaoensis ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้ตัวอย่างเลือดจากเขียดงูตัวเต็มวัย ไม่แยกเพศ จำนวน 3 ตัว นำมาเตรียมสไลด์เลือดเกลี่ยบาง ย้อมสี Giemsa’s แล้วศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ผลการศึกษาสัณฐานวิทยา สามารถจำแนกเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ได้แก่ เซลล์เม็ดเลือดแดง ระยะ mature erythrocyte และระยะ immature erythrocyte ผลการวิเคราะห์สัดส่วนของนิวเคลียสต่อไซโทพลาซึม พบว่า immature erythrocyte มีค่าเฉลี่ยของสัดส่วนมากกว่าระยะ mature erythrocyte อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เซลล์เม็ดเลือดขาวประกอบด้วย ลิมโฟไซต์ เซลล์มีรูปร่างกลม นิวเคลียสกลม ขนาดใหญ่เกือบเต็มเซลล์ (เส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย 18.90 ± 2.60 ไมโครเมตร) โมโนไซต์ เซลล์มีรูปร่างกลม นิวเคลียสรีหรือคล้ายไต วางตัวเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งของเซลล์ (เส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย 18.91 ± 2.04 ไมโครเมตร) นิวโทรฟิล เซลล์มีรูปร่างกลม นิวเคลียสมีหลายพู วางตัวกลางเซลล์ (เส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย 18.50 ± 2.00 ไมโครเมตร) และอิโอซิโนฟิล เซลล์มีรูปร่างกลม แกรนูลย้อมติดสีแดงกระจายทั่วไซโทพลาซึม (เส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย 18.50 ± 1.81 ไมโครเมตร) ทรอมโบไซต์ เซลล์มีรูปร่างรีหรือคล้ายกระสวย นิวเคลียสรูปร่างรี (ความยาวและความกว้างเฉลี่ย 21.57 ± 2.57 และ 11.97 ± 1.28 ไมโครเมตร ตามลำดับ) พิสัยของค่าเซลล์เม็ดเลือดแดงอัดแน่น เท่ากับ 22.0 – 23.0 % ผลการนับแยกชนิดเซลล์เม็ดเลือดขาว พบว่าลิมโฟไซต์มีสัดส่วนมากที่สุด (90.17%) รองลงมาคือ โมโนไซต์ (4.30%) นิวโทรฟิล (3.67%) และอิโอซิโนฟิล (1.83%) ตามลำดับ ไม่พบเบโซฟิลจากตัวอย่างเลือดที่ศึกษาในครั้งนี้ ส่วนทรอมโบไซต์ มีจำนวนเฉลี่ย 71 เซลล์ ต่อ 2,000 เซลล์เม็ดเลือดแดง ข้อมูลทางด้านโลหิตวิทยาจากการศึกษาในครั้งนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการประเมินสุขภาวะเบื้องต้นของ I. kohtaoensis และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชนิดใกล้เคียงกันในอนาคตต่อไป