Abstract:
ทากบกสปีชีส์ Valiguna siamensis (Martens, 1867) อยู่ในวงศ์ Veronicellidae มีลักษณะลำตัวแบนคล้ายใบไม้ มีชื่อสามัญว่า leatherleaf slug บริโภคพืชหรือเศษซากพืชเป็นอาหาร พบกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ทากบกสปีชีส์นี้ได้ถูกบันทึกข้อมูลเป็นครั้งแรกโดยใช้ชื่อสปีชีส์ Vaginulus siamensis (Martens, 1867) ต่อมามีการศึกษาสัณฐานวิทยาระบบสืบพันธุ์เพศผู้เป็นลักษณะสำคัญ และพบว่าทากบก สปีชีส์นี้ควรย้ายไปอยู่ในสกุล Valiguna เนื่องจากมีลักษณะของเพนีส (penis) แตกต่างจากสกุลอื่น ๆ การศึกษาในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ศึกษาจากตัวอย่างที่เก็บได้จากภาคสนามและตัวอย่างจากพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาภายนอก ได้แก่ สี ความเข้มจางของสี ลวดลายบนตัว ความยาวและความกว้างของลำตัว ความกว้างของแผ่นเท้า (foot) และลักษณะสัณฐานวิทยาภายใน ซึ่งได้แก่ ลักษณะของอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้โดยเฉพาะลักษณะของเพนีส เพื่อนำมาใช้ในการจำแนกทากบก และเปรียบเทียบกับศึกษาลักษณะทางโมเลกุล (DNA barcode) โดยศึกษาลำดับนิวคลีโอไทด์ของยีน cytochrome c oxidase subunit 1 (CO I) ขนาด ~700 คู่เบส ว่าลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่ใช้ในการจัดจำแนกนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อมูลทางโมเลกุล ทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้โดยเปรียบเทียบลำดับ นิวคลีโอไทด์ของสปีชีส์ Val. siamensis ที่จัดจำแนกได้โดยลักษณะของเพนีส กับลำดับนิวคลีโอไทด์ของ ทากบกสปีชีส์อื่น และสกุลอื่นในวงศ์เดียวกันจากฐานข้อมูล NCBI (GenBank) และคำนวณระยะห่างทางพันธุกรรม (genetic distance) โดยโปรแกรม MEGA X v10.1.7 (Kumar, S. et al., 2018) เพื่อให้ได้เปอร์เซ็นต์ความแตกต่างระหว่างสปีชีส์ และระหว่างสกุลภายในวงศ์เดียวกัน รวมไปถึงเปอร์เซ็นต์ความต่างระหว่างประชากรภายในสปีชีส์ ผลการศึกษาพบว่า ลักษณะสัณฐานวิทยาภายนอกไม่สามารถนำมาจัดจำแนกได้ แต่ลักษณะของเพนีสและข้อมูลทางโมเลกุลนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถจัดจำแนกตัวอย่างทากบกในประเทศไทยจากที่ได้ศึกษาตัวอย่างที่มีอยู่ ได้เป็น 2 สปีชีส์ ได้แก่ S. tailandensis และ Val. siamensis ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการจัดจำแนกทากบกในวงศ์นี้ต่อไปในอนาคตได้