Abstract:
พืชดอกสร้างน้ำหวานขึ้นมาเพื่อเป็นรางวัล (food reward) เป็นการล่อให้แมลงผู้ผสมเกสรมาเยือนดอกไม้เพื่อหาอาหาร และเป็นการช่วยผสมเกสร องค์ประกอบหลักในน้ำหวาน คือ น้ำตาลซูโครส ซึ่งเป็นสิ่งเร้าที่ผู้ผสมเกสรตอบสนองได้ดีที่สุด ดังนั้น ความเข้มข้นของน้ำตาลซูโครสจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีบทบาทต่อการตัดสินใจเลือกกินอาหาร ซึ่งผึ้งแต่ละสายพันธุ์จะมีความชอบความเข้มข้นของน้ำตาลซูโครสที่แตกต่างกันไป ชันโรง Tetragonula pagdeni เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันมากในอุตสาหกรรมการเลี้ยงชันโรงในประเทศไทย แต่พฤติกรรม และรูปแบบการหาอาหารของชันโรงชนิดนี้ยังมีการศึกษาน้อย การศึกษาครั้งนี้เป็นการตรวจสอบพฤติกรรมของ T. pagdeni ในการใช้ประโยชน์จากแหล่งอาหารโดยทำการศึกษาความเข้มข้นของน้ำตาลน้ำหวานที่ชันโรงชนิดนี้ชอบ โดยชันโรงจะเข้ามากินน้ำหวานบนจานอาหารที่มีความเข้มข้นของน้ำตาลซูโครสต่างกัน 4 ความเข้มข้น (0%, 15%, 35% และ 50% w/v) และทดสอบระยะทางที่ T. pagdeni ชอบใช้ในการหาอาหารจากรังสู่แหล่งอาหาร โดยชันโรงที่เข้ามากินน้ำหวานบนจานอาหารที่มีระยะทางห่างจากรังต่างกัน (1 เมตร, 4 เมตร, 7 เมตร, 10 เมตร) ทำการสังเกต และเก็บภาพโดยใช้กล้องถ่ายภาพ Nikon 5600D เพื่อนับจำนวนชันโรงที่เข้ามากินน้ำหวานบนจานอาหาร ด้วยโปรแกรม ImageJ และทำการเปิดรังเพื่อประเมินโครงสร้างภายในรัง สัดส่วนของถ้วยตัวอ่อน ถ้วยเก็บน้ำหวาน และถ้วยเก็บเกสรภายในรัง ผลการศึกษาพบว่า T. pagdeni มีความชอบน้ำตาลที่มีความเข้มข้นสูงตั้งแต่ 35% w/v ขึ้นไป (p<0.01) และเลือกเก็บอาหารจากแหล่งอาหารที่อยู่ใกล้กับรัง (p<0.05) สรุปได้ว่าความเข้มข้นของน้ำหวาน ระยะทางของแหล่งอาหารของอาหาร และปัจจัยทางกายภาพมีผลต่อจำนวนชันโรงที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากแหล่งอาหาร และรูปแบบการหาอาหารของ T. pagdeni