Abstract:
ได้ศึกษาการใช้ประโยชน์ของสารสกัดจากข้าวสีเพื่อเป็นส่วนผสมในเซรั่มบำรุงผิว พบว่าภาวะที่เหมาะสมในการสกัดเมล็ดข้าวไรซ์เบอร์รี่คือ รีฟลักซ์ด้วยเมทานอลนานสองชั่วโมง ได้ศึกษาตัวอย่างข้าวสีเพิ่มเติมทั้งหมดสิบห้าตัวอย่าง ได้แก่ เมล็ดข้าวไรซ์เบอร์รี่จากจังหวัดลพบุรี (WRM2L), เมล็ดข้าวไรซ์เบอร์รี่จากจังหวัดนครราชสีม (WRM2N), เมล็ดข้าวไรซ์เบอร์รี่จากจังหวัดเพชรบุรี (WRM2Ph), เมล็ดข้าวกล้องทับทิมชุมแพจากจังหวัดลพบุรี (WTM2L), เมล็ดข้าวกล้องทับทิมชุมแพจากจังหวัดเพชรบุรี (WTM2Ph), เมล็ดข้าวกล้อง กข43 จากจังหวัดลพบุรี (WOM2L), เมล็ดข้าวกล้องสังข์หยดจากจังหวัดลพบุรี (WSM2L), เมล็ดข้าวเหนียวลืมผัวจากจังหวัดลพบุรี (WBM2L), ข้าวไรซ์เบอร์รี่เมล็ดหักจากจังหวัด (BRM2L), ข้าวกล้องสังข์หยดเมล็ดหักจากจังหวัดลพบุรี (BSM2L), รำข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่ไม่ระบุแหล่งที่มา (GRM2X), รำข้าวไรซ์เบอร์รี่จากจังหวัดพัทลุง (GRM2P), จมูกข้าวและรำข้าวสังข์หยดจากจังหวัดพัทลุง (GSM2P-1), รำข้าวสังข์หยดจากจังหวัดพัทลุง (GSM2P-2) และข้าวกล้องงอกผสมจมูกข้าวสังข์หยดจากจังหวัดพัทลุง (GOsM2P) ทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH พบว่าสารสกัดข้าวสีหกชนิด ได้แก่ GRM2P, GRM2X, GSM2P-2, WBM2L, GO2M2P และ GSM2P-1 ให้ค่าร้อยละผลผลิตและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุด เมื่อวิเคราะห์ปริมาณสารประกอบฟีนอลิกรวม เฟลโวนอยด์รวมและแอนโทไซยานินรวม พบว่า WBM2L ให้ปริมาณสารประกอบฟีนอลิกรวมและเฟลโวนอยด์รวมสูงสุด (683.6±29.8 mg gallic acid equivalent (GAE)/g extract และ 10,159±993.5 mg quercetin equivalent QE/g extract) ได้เลือกสารสกัดข้าวสี GRM2P เป็นส่วนผสมในเซรั่มบำรุงผิวหน้า และทดสอบสมบัติทางกายภาพของเซรั่มที่เตรียมได้ภายใต้ภาวะดังต่อไปนี้ ที่อุณหภูมิห้อง (28°C) เป็นเวลา 1 เดือน, ภายใต้ภาวะเร่งอุณหภูมิต่ำสลับอุณหภูมิสูงเป็นเวลา 7 วัน, ตากแดดเช้าเป็นเวลา 7 วัน และภายใต้แสงยูวี (254 nm) เป็นเวลา 30 นาทีพบว่าสีและลักษณะอื่น ๆ ของเซรั่มยังคงเหมือนเดิม