Abstract:
คุณภาพของนมผงถือเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปนมผง การตรวจสอบคุณภาพและวิธีการวิเคราะห์ปริมาณสารอาหารที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์นมผงจึงมีความสำคัญมาก การตรวจสอบคุณภาพด้านแร่ธาตุตรวจสอบด้วยเทคนิคเอซเรย์ฟลูออเรสเซนซ์เป็นที่นิยมในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่าย รวดเร็ว ไม่ต้องเตรียมสารตัวอย่าง สามารถทำการวิเคราะห์ได้โดยตรงต่อสารตัวอย่างของแข็ง และไม่ทำลายสารตัวอย่าง ดังนั้นการทราบผลการวิเคราะห์ได้รวดเร็วจึงส่งผลดีต่อการส่งออกและการจัดจำหน่ายสินค้า บริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด ได้ดำเนินธุรกิจด้านการผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมผงที่มีคุณภาพสำหรับผู้ใหญ่ ทารกและเด็ก อย่างไรก็ดีทางบริษัทมีการวิเคราะห์แร่ธาตุในนมผงโดยอาศัยเทคนิค XRF และได้มีการสร้างเส้นโค้งสอบเทียบของสามแร่ธาตุคือ แคลเซียม, เหล็ก และสังกะสี เส้นโค้งสอบเทียบนั้นยังที่มีช่วงความเข้มข้นไม่ครอบคลุมความเข้มข้นของสูตรนมผงที่มีอยู่ในโรงงานปัจจุบัน ดังนั้นโครงการนี้จึงทำการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการวิเคราะห์ปริมาณแร่ธาตุ โดยเทคนิค XRF ได้แก่ การเตรียมสารตัวอย่าง (น้ำหนักสารตัวอย่าง, แรงดันที่ใช้ในการอัดสารตัวอย่างความชื้น และความเป็นเนื้อเดียวกันของสารตัวอย่าง) และตัวแปรต่าง ๆ ของเครื่องมือ (ศักย์ไฟฟ้า และกระแสไฟฟ้า) จากนั้นทำการสร้างเส้นโค้งสอบเทียบเพื่อการควบคุมคุณภาพแร่ธาตุอาหารในนมใหม่ และเพิ่มแร่ธาตุในการวิเคราะห์ใหม่สองแร่ธาตุ ได้แก่ โซเดียม และแมกนีเซียม สารตัวอย่างนมผงจำนวน 25 สูตร นำมาเป็นสารมาตรฐานวิเคราะห์ปริมาณแร่ธาตุโซเดียม, แมกนีเซียม, แคลเซียม, เหล็ก, และสังกะสี พบว่าการวิเคราะห์ปริมาณแร่ธาตุด้วยเทคนิคเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนซ์มีช่วงความเข้มข้นครอบคลุมปริมาณแร่ธาตุในนมผงแต่ละสูตรที่มีอยู่ในปัจจุบัน (9.35-31.18, 3.71-12.37, 19.25-64.16, 055-1.83, และ 0.17-0.55 mg/100 g สำหรับ Na, Mg, Ca, Fe, และ Zn), และค่าความเข้มข้นสูงสุดที่วิเคราะห์ และยอมรับได้เท่ากับ 575.32, 245.03, 2311.34, 60.02 และ 17.88 mg/100 g