Abstract:
ปลา Poecilia mexicana เป็นปลาต่างถิ่นพบการกระจายตัวได้ทั่วไป ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำทะเล ในการศึกษาเบื้องต้นพบว่าปลาชนิดนี้สามารถอาศัยในบริเวณที่มีความเค็มสูงและในแหล่งน้ำเน่าเสียได้ ทั้งนี้ในการปรับตัวของปลาต่อการเปลี่ยนแปลงของความเค็มนั้นปลาจะใช้อวัยวะสำคัญคือเหงือกและไตในการปรับเปลี่ยนความเข้มข้นของโซเดียมและคลอไรด์ไอออนในตัว ซึ่งการศึกษาในครั้งนี้มุ่งเน้นศึกษาการเปลี่ยนแปลงของจำนวนเซลล์คลอไรด์ในเหงือกต่อความเค็มที่แตกต่างกันที่พบในปลาชนิดนี้ โดยทำการเก็บปลาจากบริเวณลำคลอง สุขสวัสดิ์ 84 ตำบลในคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการทำการเลี้ยงในระดับความเค็มต่างๆกันโดยที่น้ำมาปรับสภาพในน้ำจืดเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ก่อนทำการทดลอง ปลาชนิดนี้จะถูกปรับความเค็มขึ้นในแต่ละระดับความเค็ม ได้แก่ 0,10,20,30,40,50 ppt เพื่อเปรียบเทียบจำนวนเซลล์คลอไรด์ที่นับได้ในแต่ละความเค็มและความแตกต่างระหว่างเพศที่ความเค็ม 0,10,30 ppt การศึกษาเนื้อเยื่อของเหงือกปลาโดยใช้กล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง ผลการศึกษาพบว่าปลาในน้ำจืดมีจำนวนเซลล์คลอไรด์บน primary lamella น้อยกว่าปลาในน้ำที่เค็มกว่า ซึ่งจะพบว่ามีจำนวนเซลล์คลอไรด์มากขึ้นเมื่อความเค็มเพิ่มขึ้น และไม่พบความแตกต่างของจำนวนเซลล์คลอไรด์ระหว่างเพศ ในการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าเหงือกเป็นอวัยวะแรกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงความเค็ม ซึ่งหน้าที่การขับโซเดียมและคลอไรด์ไอออนส่วนเกินของปลาในน้ำเค็มนั้นอยู่ที่เซลล์คลอไรด์บริเวณเหงือก เซลล์ซึ่งมีโครงสร้างพิเศษนี้ใช้กระบวนการทางระดับเซลล์และโมเลกุลในการปรับสมดุลของไอออนแร่ธาตุจึงมีบทบาทสำคัญในการขับเกลือให้อยู่ในระดับทีเหมาะในการดำรงชีวิต