Abstract:
ยูคาลิปตัส Eucalyptus camaldulensis เป็นไม้เศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งในประเทศไทยในธรรมชาติรากของต้นยูคาลิปตัสมีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัย (symbiosis) กับเชื้อราเอคโตไมคอร์ไรซาเห็ดเสม็ด Tylopilus sp. เมื่อถึงต้นฤดูฝนในทุก ๆ ปี เชื้อราเอคโตไมคอร์ไรซาชนิดนี้จะสร้างดอกเห็ดเสม็ดซึ่งได้รับความนิยมนำไปรับประทานในพื้นที่ทางใต้และตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ราเอคโตไมคอร์ไรซาเห็ดเสม็ด Tylopilus sp. สำหรับการผลิตเป็นหัวเชื้อสำหรับกล้าไม้ยูคาลิปตัส จากการทดลองการศึกษาการเจริญเติบโตของเส้นใยราเอคโตไมคอร์ไรซาเห็ดเสม็ด 3 สายพันธุ์ ได้แก่เห็ดเสม็ดน่าน I-2 เห็ดเสม็ดน่าน I-3 และเห็ดเสม็ดกระบี่ บนอาหารเลี้ยงเชื้อแข็ง potato dextrose agar (PDA) เป็นเวลา 21 วัน พบว่าเส้นใยราเอคโตไมคอร์ไรซาเห็ดเสม็ดสายพันธุ์กระบี่สามารถเจริญเติบโตได้ดีที่สุด เมื่อนำเส้นใยราเอคโตไมคอร์ไรซาเห็ดเสม็ดสายพันธุ์กระบี่ไปทดสอบการเจริญในอาหารเลี้ยงเชื้อเหลว 3 ชนิด ได้แก่ potato dextrose broth (PDB), modified Melin-Norkrans broth (MMN) และ malt extract broth (MEB) เป็นเวลา 16 วัน พบว่าเส้นใยราเอคโตไมคอร์ไรซาเห็ดเสม็ดสายพันธุ์กระบี่ที่เจริญในอาหารเลี้ยงเชื้อเหลว MEB มีน้ำหนักแห้งเฉลี่ยสูงสุด จากการนำหัวเชื้อราเอคโตไมคอไรซาเห็ดเสม็ดสายพันธุ์กระบี่ที่เจริญในอาหารเลี้ยงเชื้อเหลวทดสอบการติดเชื้อเข้าสู่รากในกล้าไม้ยูคาลิปตัสเป็นเวลา 2 เดือน พบว่าราเอคโตไมคอไรซาเห็ดเสม็ดที่เจริญใน MEB สามารถเกิดการติดเชื้อในรากยูคาลิปตัสได้ถึง 65.3 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่หัวเชื้อในอาหารเลี้ยงเชื้อแข็ง MEA และหัวเชื้อในอาหารเลี้ยงเชื้อเหลว MMN พบร้อยละของการติดเชื้อในรากกล้าไม้ยูคาลิปตัสเท่ากับ 53.0 เปอร์เซ็นต์ และ 45.5 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ราเอคโตไมคอร์ไรซาเห็ดเสม็ดสายพันธุ์กระบี่ที่เจริญในอาหารเลี้ยงเชื้อเหลว MEB จึงเหมาะสำหรับการใช้เป็นหัวเชื้อสำหรับกล้าไม้ยูคาลิปตัส